เศรษฐกิจการค้า

เศรษฐกิจของประเทศเมียนมาร์

การขยายตัวทางเศรษฐกิจของเมียนมาร์นั้นถือได้ว่าเป็นการเติบโตอย่างไม่สมดุล กล่าวคือ มีการพึ่งพารายได้จากพลังงานและเกษตรกรรมเป็นหลัก ในส่วนของพลังงานนั้นคงจะเพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศ แต่เป็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ประชาชนน้อยคนจะได้มีส่วนร่วมและผลพวงก็จะไม่กระจายออกไปโดยทั่ว เว้นแต่การเพิ่มขึ้นของรายได้ของภาครัฐที่จะต้องจัดสรรให้เหมาะสม สำหรับภาคเกษตรนั้นเกษตรกรไม่สามารถเป็นเจ้าของที่ดินทำให้ขาดหลักทรัพย์เพื่อนำไปค้ำประกันเพื่อเข้าสู่สินเชื่อ ขณะที่ระบบธนาคารก็ยังจะต้องพัฒนาอีกมาก นอกจากนั้น ก็ยังมีปัญหาด้านการขนส่งและการขาดแคลนปัจจัยการผลิตต่างๆ ตลอดจนเทคโนโลยีและความรู้ ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมก็เผชิญปัญหาที่คล้ายคลึงกับภาคการเกษตรและยังต้องเผชิญกับความซับซ้อนของกฎระเบียบราชการ
หลังจากประเทศเมียนมาร์ หันมาใช้นโยบายเปิดประเทศมากขึ้น โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย นำไปสู่การขยายโอกาสทางธุรกิจในหลากหลายธุรกิจ และยังเชื่อว่าความต้องการลงทุนในเมียนมาร์จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปอีกหลายปีจากนี้ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งถือเป็นสิ่งแรกที่จะต้องเตรียมความพร้อมรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราการขยายตัวการลงทุนจากเอเชียไปสู่เมียนมาร์ที่มีอัตราสูงขึ้น
นอกจากนั้นเมียนมาร์ยังมีทรัพยากรธรรมชาติมหาศาลและยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ อีกทั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญไม่แพ้ไทย ที่เป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างจีน อินเดีย ไทย สามารถเป็นทางออกสู่ทะเลอันดามันให้กับจีนตะวันตกได้ ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะที่มีการ Sanction จากสหรัฐและยุโรป นักลงทุนจีนได้เข้าไปลงทุนในเมียนมาร์อย่างต่อเนื่องในทุกภาคส่วน
แนวโน้มเศรษฐกิจ
หลังจากที่เมียนมาร์มีการปฏิรูปทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นานาชาติทยอยยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อเมียนมาร์ ดังนั้น เมียนมาร์จึงเริ่มดำเนินนโยบายการค้าเสรีกับกลุ่มประเทศและบริษัทข้ามชาติ โดยเฉพาะที่ไม่มีท่าทีแทรกแซงกิจการภายในของเมียนมาร์ เช่น จีน รัสเซีย รวมทั้งอาเซียน (ASEAN) ทำให้บริษัทต่างชาติให้ความสนใจลงทุนในเมียนมาร์มากขึ้นเมียนมาร์ได้ประกาศใช้กฎหมายการลงทุนฉบับใหม่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 โดยอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถเข้าลงทุนโครงการได้ 100% รวมไปถึงการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีต่างๆ จากการประการใช้กฎหมายการลงทุนดังกล่าว คาดว่าจะมีนักลงทุนต่างชาติสนใจเข้าไปลงทุนในเมียนมาร์มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี 2557รัฐบาลเมียนมาร์ได้เริ่มออกใบอนุญาตให้ต่างชาติเข้าไปขยายธุรกิจสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ในโครงการต่างๆ เช่น โครงการธุรกิจโทรคมนาคม (เทเลนอร์และโอเรดู) โครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษติลาวาโครงการสร้างสนามบินนานาชาติที่เมืองหงษ์สาวดีโครงการพัฒนาไฟฟ้าโดยธนาคารโลกโครงการพัฒนาระบบประปาในย่างกุ้งโรงงานผลิตปูนซีเมนต์โดย บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) โครงการด้านพลังงานโดยบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และโครงการพัฒนาระบบรถไฟในเมียนมาร์ เป็นต้น
โอกาสทางเศรษฐกิจ
เมียนมาร์เป็นตลาดขนาดใหญ่มีประชากรหนาแน่นประมาณ 56 ล้านคน มีอาณาเขตติดกับจีน อินเดีย บังคลาเทศ ลาว และไทย ทำให้เมียนมาร์เป็นประเทศที่อยู่ท่ามกลางของกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเซียใต้ อีกทั้งมีความได้เปรียบในการติดต่อทางการค้า การส่งออกและนำเข้า รวมทั้งการส่งสินค้าผ่านแดนไปยังประเทศต่างๆ นอกจากนี้เมียนมาร์ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติเหมาะแก่การเป็นฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรม เศรษฐกิจเมียนมาร์คาดว่าจะขยายตัวถึงร้อยละ 7.8 ในปี 2557-2558 โดยในปีที่ผ่านมาเมียนมาร์เป็นตลาดส่งออกอับดับที่ 16 ของไทย (อันดับที่ 7 ในกลุ่มประเทศอาเซียน) การส่งออกของไทยไปเมียนมาร์มีมูลค่า 3,788 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
การพัฒนาตลาดของเมียนมาร์ในอนาคตอาจจะพัฒนามากขึ้นจากการเข้าเป็นสมาชิก AEC และจากขนาดตลาดเมียนมาร์ที่มีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับตลาดของไทย ทำให้ไทยสามารถใช้เมียนมาร์เป็นประตูระบายสินค้าของไทยสู่ประเทศที่สาม รวมทั้งใช้เมียนมาร์เป็นฐานในการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกในอนาคต รวมถึงจากการที่เมียนมาร์เป็นประเทศที่มั่งคั่งไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ
นอกจากนี้ แผนการเปิดด่านถาวรไทย-เมียนมาร์ที่เพิ่มขึ้นจะเป็นการเพิ่มช่องทางการกระจายสินค้า การค้าชายแดนสู่ตลาดเมียนมาร์ผู้ประกอบการไทยจึงควรเร่งศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าไปขยายธุรกิจในเมียนมาร์ซึ่งจะเติบโตได้อีกมากในอนาคต
ที่มา: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, 2557

เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจที่สำคัญ

ตารางที่ 1 เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจของประเทศเมียนมาร์
ปี 2556 ปี 2557 ปี 2558
GDP (US$bn) Current Prices56.763.165.8
GDP Per Capita (US$)1,1121,2281,269
GDP growth (%)8.48.58.5
Current account balance (US$b)-3.0-3.9-5.9
Inflation (%)5.75.912.2
Unemployment Rate (%)4.04.04.0
ที่มา: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, 2559
นักวิเคราะห์คาดการว่า เศรษฐกิจเมียนมาร์มีแนวโน้มที่ดี หลังจากการเปิด AEC เต็มรูปแบบคือ หลังปี 2558 คาดว่า GDP เมียนมาร์จะขยายตัว 7.8% โดยหลังปี 2558 เมียนมาร์จะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดเนื่องจากมีการเข้ามาลงทุนโดยตรงในเมียนมาร์มากขึ้นทำให้มีความต้องการสินค้าและวัตถุดิบเพื่อการผลิตมากขึ้นซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าจากจีนและประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก
ภาวะเงินเฟ้อ
เศรษฐกิจเมียนมาร์จะขยายตัวประมาณร้อยละ 6.8 ในปี 2557 ซึ่งจะถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่เติบโตรวดเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้เงินเฟ้อสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อผู้มีฐานะยากจน โดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเมียนมาร์ได้แรงหนุนจากภาคพลังงาน การส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ เงินลงทุนจากต่างชาติ ภาคบริการและการก่อสร้าง เศรษฐกิจเมียนมาร์นับว่ามีขนาดเล็กที่สุดและพัฒนาน้อยที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย เพราะได้รับผลกระทบจากการบริหารระบบการเงินที่ผิดพลาดและมาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก ซึ่งขณะนี้ส่วนใหญ่ยกเลิกไปแล้ว ธนาคารโลกระบุว่าการลงทุนส่วนใหญ่ในเมียนมาร์อยู่ที่ภาคพลังงาน เสื้อผ้า เทคโนโลยีสารสนเทศ อาหารและเครื่องดื่ม (ธนาคารโลก, 2557)

การค้าระหว่างประเทศ

นโยบายด้านการค้าต่างประเทศ

เมียนมาร์ได้ดำเนินการปฏิรูปด้านต่างๆ ตั้งแต่ปี 2553 เพื่อกลับเข้าสู่ระบบการค้าระหว่างประเทศอีกครั้ง หลังจากการดำเนินนโยบายโดยไม่ขึ้นกับเศรษฐกิจโลกมาเป็นเวลาหลายปี ส่งผลให้การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริง (Real GDP growth) เพิ่มสูงขึ้น โดยประมาณการณ์ว่า มีการขยายตัวที่ร้อยละ 5.9 เมื่อปี 2554/55 และร้อยละ 6.4 เมื่อปี 2555/56 ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2555 ระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อประชากร (per capita GDP) อยู่ที่ประมาณ 900 เหรียญสหรัฐ
เมียนมาร์ได้เริ่มการปฏิรูปด้านต่างๆ ภายใต้นโยบายเศรษฐกิจมหภาคอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 ธนาคารกลางของเมียนมาร์ได้เปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ (Pegged exchange rate) ซึ่งตรึงกับค่าเงินกลางของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (Special Drawing Right หรือ SDR) มาเป็นอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวภายใต้กำกับดูแล (Managed floating exchange rate) ซึ่งก่อนหน้าการปฏิรูปนี้เมียนมาร์ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนทางการและอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดที่ไม่เป็นทางการ และจะกำหนดนโยบายการเงินโดยพิจารณาความจำเป็นในการปรับการขาดดุลด้านการคลัง จึงทำให้อัตราเงินเฟ้อสูง เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2556 เมียนมาร์ได้ออกกฎหมายธนาคารกลางฉบับใหม่ เพื่อให้อำนาจธนาคารกลางในการดำเนินการที่เป็นอิสระจากกระทรวงการคลังและเพื่อปรับปรุงกลไกเกี่ยวกับธุรกรรมด้านการเงิน
เศรษฐกิจเมียนมาร์มีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมากเนื่องจากแรงงานยังมีอายุน้อยมีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากและอยู่ในภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วต่อเนื่องอย่างไรก็ตามเมียนมาร์ยังคงมีอุปสรรคสำคัญในการปรับปรุงเศรษฐกิจให้ทันสมัยการดำเนินการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนและการลดระดับความยากจนซึ่งส่วนหนึ่งเนื่องมาจากเมียนมาร์ขาดแคลนความสามารถในการดำเนินการและโครงสร้างพื้นฐาน
ที่มา: คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก, 2557

การค้ากับประเทศไทย

มูลค่าการค้าโดยรวมระหว่างไทย-พม่า
มูลค่าการค้าระหว่างไทย-พม่าโดยรวมระหว่างเดือน มกราคม-พฤศจิกายน 2557 มีมูลค่าสูงถึง 238,424.69 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการส่งออกมากถึง 124,000.15 ล้านบาท และ มูลค่าการนำเข้า 114,424.54 ล้านบาท ไทยเกินดุลการค้า 9,575.61 ล้านบาท ตามลำดับ
มูลค้านำเข้าส่งออกรายจังหวัด
ด้านการส่งออก
จังหวัดตากจะมีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุด 54,271.40 ล้านบาท รองลงมาเป็น จังหวัดระนอง 16,686.96 ล้านบาท จังหวัดเชียงราย 12,563.48 ล้านบาท จังหวัดกาญจนบุรี 1,331.51 ล้านบาท และจังหวัดแม่ฮ่องสอน 372.95 ล้านบาท ตามลำดับ
ด้านการนำเข้า
จังหวัดกาญจนบุรีมีมูลค่าสูงที่สุด 103,060.57 ล้านบาท รองลงมาเป็น จังหวัดตาก 2,665.88 ล้านบาท จังหวัดระนอง 1,409.84 ล้านบาท จังหวัดเชียงราย 528.46 ล้านบาท และจังหวัดแม่ฮ่องสอน 451.53 ล้านบาท ตามลำดับ
ที่มา: กรมการค้าต่างประเทศ, 2557
ที่มา: กรมการค้าต่างประเทศ, 2557

การค้าชายแดนไทย

ไทยมีแนวชายแดนติดต่อกันเป็นระยะทางยาวประมาณ 1,800 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง การค้าหรือการทำธุรกรรมทางการค้าบริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศมีรูปแบบการค้าตั้งแต่การค้าที่มีมูลค่าไม่สูงมาก เช่น การซื้อขายสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนจนไปถึงการค้าที่มีมูลค่าสูงระหว่างหน่วยงานรัฐของทั้งสองประเทศ จังหวัดที่มีศักยภาพทางด้านการค้าชายแดนระหว่างไทยกับเมียนมาร์มี 7 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน (ด่านศุลกากรบ้านห้วยผึ้ง) เชียงราย (ด่านศุลกากรแม่สาย) เชียงใหม่ (ด่านศุลกากรเชียงดาว) ตาก (ด่านศุลกากรแม่สอด) กาญจนบุรี (ด่านศุลกากรสังขละบุรี) ประจวบคีรีขันธ์ (ด่านศุลกากรบ้านสิงขร) และระนอง (ด่านศุลกากรระนอง) ส่วนจังหวัดที่ไม่มีการค้าชายแดน ได้แก่ ราชบุรี เพชรบุรี และชุมพร เนื่องจากพรมแดนที่ติดต่อกันกับเมียนมาร์เป็นพื้นที่ป่าและไม่มีชุมชนอาศัยอยู่ ทั้งนี้ หน่วยงานรับผิดชอบการค้าชายแดนของเมียนมาร์ คือ กรมการค้าชายแดน (Department of Border Trade: DOBT) ซึ่งปัจจุบันได้มีการจัดตั้งจุดบริการ One-Stop-Services ขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการค้าประเภทนำเข้าส่งออกชายแดนระหว่างประเทศ
จุดผ่านแดนถาวร
  1. บริเวณข้ามแม่น้ำสาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ตรงข้าม เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน
  2. บริเวณบ้านริมเมย หมู่ 2 ตำบลท่าสายลวด จังหวัดตาก ตรงข้าม เมืองเมียวดี
  3. บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ตรงข้าม เมืองเกาะสอง ประกอบด้วย
  4. บริเวณท่าเทียบเรือสะพานปลา ตำบลบางริ้น อำเภอเมือง จังหวัดระนอง
  5. บริเวณปากน้ำระนอง ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระนอง
  6. บริเวณท่าเทียบเรือของ บริษัทอันดามันคลับ จำกัด ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระนอง
จุดผ่านแดนชั่วคราว
ด่านเจดีย์สามองค์ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
จุดผ่อนปรน
  1. ท่าบ้านเหมืองแดง ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
  2. ท่าบ้านปางห้า ตำบลเกาะช้าง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
  3. ท่าบ้านสายลมจอย ตำบลเวียงคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
  4. ท่าบ้านเกาะทราย ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย (ลำดับที่ 1-4 อยู่ตรงข้ามเมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน)
  5. ด่านเจดีย์สามองค์ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี – อำเภอ พญาตองซู จังหวัดผาอัน รัฐกะเหรี่ยง
  6. ช่องทางบ้านห้วยต้นนุ่น หมู่ 4 ตำบลแม่งา อำเภอขุนยวม จังหวัด แม่ฮ่องสอน – อำเภอแม่เจ๊ะ จังหวัดดอยก่อย รัฐฉาน
  7. ช่องทางบ้านห้วยผึ้ง หมู่ 4 ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง จังหวัด แม่ฮ่องสอน – บ้านหัวเมือง รัฐฉาน
  8. ช่องทางกิ่วผาวอก บ้านอรุโณทัย หมู่ 10 ตำบลเมืองนะ อำเภอ เชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ – เมืองสาด รัฐฉาน
  9. ช่องทางหลักแต่ง บ้านเปียงหลวง ตำบลเปียงหลวง อำเภอ เวียงแห จังหวัดเชียงใหม่ – เมืองเต๊าะ รัฐฉาน
  10. บ้านสบรวก ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ – บ้านมอด่อง จังหวัดมะริด เขตตะนาวศรี
(กรมส่งเสริมการส่งออก, 2555)
มูลค่าสินค้าส่งออกชายแดนไทย-เมียนมาร์สูงสุดในช่วงเดือน มกราคม-พฤศจิกายน 2557 10 อันดับแรก ได้แก่
  1. น้ำมันดีเซล 7,185.94 ล้านบาท
  2. เครื่องดื่มที่มีแอลกฮอล์ 6,231.06 ล้านบาท
  3. น้ำมันเบนซิล 5,066.74 ล้านบาท
  4. เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกฮอล์ 4,086.31 ล้านบาท
  5. ผ้าผืนและด้าย 4,023.60 ล้านบาท
  6. เครื่องโทรสาร โทรพิมพ์ โทรศัพท์ 3,689.33 ล้านบาท
  7. ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า 2,511.07 ล้านบาท
  8. บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารสำเร็จ 2,461.45 ล้านบาท
  9. รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 1,776.21 ล้านบาท
  10. ยางยานพาหนะ 1,722.54 ล้านบาท
มูลค่าสินค้านำเข้าชายแดนไทย-เมียนมาร์สูงสุดในช่วงเดือน มกราคม-พฤศจิกายน 2557 10 อันดับแรก ได้แก่
  1. ก๊าซธรรมชาติ 102,944.94 ล้านบาท
  2. โค กระบือ สุกร แพะ แกะ 1,610.67 ล้านบาท
  3. สัตว์น้ำ 568.09 ล้านบาท
  4. ไม้ซุง 439.54 ล้านบาท
  5. พืชน้ำมันและผลิตภัณฑ์ 414.82 ล้านบาท
  6. ผลิตภัณฑ์ไม้อื่นๆ 392.88 ล้านบาท
  7. ผักและของปรุงแต่งจากผัก 333.01 ล้านบาท
  8. สินแร่โลหะ เศษโลหะอื่นๆ 269.29 ล้านบาท
  9. เคมีภัณฑ์อนินทรีย์ 267.41 ล้านบาท
  10. ผลิตภัณฑ์อื่นๆจากสัตว์ 191.47 ล้านบาท
ที่มา: กรมการค้าต่างประเทศ, 2557

กฎระเบียบการนำเข้าสินค้า

มาตรการนำเข้า – ส่งออก
ผู้ทำธุรกิจนำเข้าส่งออกสินค้าต้องยื่นจดทะเบียนเป็นผู้นำเข้าส่งออกที่สำนักงานทะเบียนนำเข้า – ส่งออก (Export Import Registration Office) กระทรวงพาณิชย์ของเมียนมาร์ ค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนธุรกิจนำเข้า – ส่งออกเป็นเงิน 50,000 และ 100,000 จ๊าตโดยมีระยะเวลาในการดำเนินธุรกิจ 1 และ 3 ปีตามลำดับ ผู้ที่จะทำธุรกิจนำเข้า-ส่งออกสินค้าจะต้องยื่นขอจดทะเบียนเป็นผู้นำเข้าและส่งออกที่สำนักงานทะเบียนนำเข้า-ส่งออก (Export-Import Registration Office) กรมการค้าพาณิชย์กระทรวงพาณิชย์
คุณสมบัติของผู้นำเข้าและส่งออก
  • บุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติเมียนมาร์หรือที่แปลงสัญชาติเป็นเมียนมาร์ (Naturalized Citizenship)
  • ห้างหุ้นส่วนบริษัทที่จัดตั้งในเมียนมาร์
  • ห้างหุ้นส่วนจำกัดบริษัทร่วมทุนที่จัดตั้งขึ้นภายในกฎหมายการลงทุนต่างประเทศของเมียนมาร์
  • สหกรณ์ที่จดทะเบียนภายใต้กฎหมายสหกรณ์ของเมียนมาร์ในปี 2533
สิทธิของผู้จดทะเบียน
  • สามารถส่งออกสินค้าทุกชนิดยกเว้นไม้สักน้ำมันปิโตรเลียมก๊าซธรรมชาติไข่มุกหยกอัญมณีแร่ธรรมชาติและสินค้าอื่นๆที่ระบุว่าสามารถดำเนินการได้โดยหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแต่เพียงผู้เดียว
  • สามารถนำเข้าสินค้าทุกชนิดตามเงื่อนไขของกฎและระเบียบที่ระบุไว้ยกเว้นสินค้าที่เป็นสินค้าห้ามนำเข้า
  • สามารถยื่นขอหนังสือเดินทางประเภทธุรกิจไปต่างประเทศได้
กฎและมาตรการทางการค้าที่ควรทราบ
มาตรการนำเข้า
  1. ปัจจุบันได้มีการยกเลิกการห้ามนำเข้าสินค้าจำนวน 14 ชนิดในการค้ารูปแบบปกติผ่านทางทะเล (Overseas Trade) ได้แก่ผงชูรสน้ำหวานและเครื่องดื่ม (Soft Drink) ขนมปังกรอบทุกชนิดหมากฝรั่งขนมเค้กขนมเวเฟอร์ช็อกโกแลตอาหารกระป๋อง (เนื้อสัตว์และผลไม้) เส้นหมี่ทุกชนิด เหล้า เบียร์ บุหรี่ ผลไม้สดทุกชนิด
  2. การนำเข้าสินค้าต้องใช้เงินที่ได้จากการส่งออกเท่านั้น (Export First, Import Later System) ดังนั้นผู้นำเข้าในเมียนมาร์ที่ไม่มีรายได้เงินตราต่างประเทศจากการส่งออกจึงต้องซื้อบัญชีเงินดอลลาร์สหรัฐ จากผู้ส่งออกที่มีรายได้เงินตราต่างประเทศ เพื่อเป็นหลักฐานสำหรับใช้ประกอบการขอใบอนุญาตนำเข้าจากรัฐบาลเมียนมาร์ ทั้งนี้ผู้นำเข้าต้องซื้อเงินตราต่างประเทศที่ได้จากการส่งออก (Export Earning) ในอัตราที่สูงกว่าอัตราตลาดเล็กน้อย
  3. ผู้นำเข้าจะต้องเปิดบัญชีเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศที่ Myanmar-Investment and Commercial-Bank (MICB) หรือ Myanmar Foreign Trade Bank (MFTB) เพื่อยื่นใบอนุญาตนำเข้าสินค้าจากกระทรวงพาณิชย์แนบสัญญาขาย (Sale Contact) และ Proforma Invoice ซึ่งมีรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับสินค้าบรรจุภัณฑ์และระยะเวลาการส่งมอบ
  4. การนำเข้าสินค้าหรือเครื่องจักรอุปกรณ์จากต่างประเทศผู้ประกอบการในเมียนมาร์สามารถเปิด L/C ได้กับ 2 ธนาคารคือ MICB และMFTB โดยต้องใช้เงินสดค้ำประกันเต็มมูลค่า L/C เสมือนการซื้อสินค้าด้วยเงินสดทั้งนี้ในการนำเข้าต้องเสียภาษีศุลกากร (Customs Duty) และภาษีการค้า (Commercial Tax)
  5. ในกรณีที่ซื้อเป็นราคา FOB ผู้นำเข้าจะต้องประกันภัยสินค้ากับ Myanmar Insurance Company และใช้บริษัท Myanmar Five Star Line เป็นผู้ขนส่งสินค้าเท่านั้น
หมายเหตุ :
  • โดยปกติการนำเข้าและส่งออกนิยมใช้รูปแบบการขนส่งเพียง 2 ประเภทคือทางเรือกับทางบก (ชายแดน)
  • การค้าผ่านระบบหมายถึงการทำการค้าที่ผ่านระบบการตรวจสอบและอนุญาตของทางการอย่างถูกต้อง
ที่มา: กรมส่งเสริมการส่งออก, 2555

ระบบโลจิสติกส์การขนส่งสินค้า

การขนส่งทางบก ได้แก่ ทางถนน และทางรถไฟ
ทางถนน
ถนนในเมียนมาร์ส่วนใหญ่ขนานไปกับภูเขาและแม่น้ำทอดไปตามความยาวของประเทศเช่นเดียวกับทางรถไฟถนนสายต่างๆ ที่สำคัญมีดังนี้
  • ถนนสายเมียนมาร์ เป็นถนนสายสำคัญที่เชื่อมต่อระหว่างย่างกุ้งกับเมืองคุนหมิงซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของจีน มีความยาวในเขตเมียนมาร์ถึงเมืองมูเซ ประมาณ 1,160 กิโลเมตรและมีความยาวในเขตจีนจากมูเซถึงคุนหมิง ประมาณ 90 กิโลเมตร ถนนสายนี้ผ่านเมืองต่างๆ คือ พะโค – ตองอู – ปยิมมะนา – เมตติลา – มัณฑะเลย์ – เมเบียงกอดเต็ก – สีป๊อ -ลาเฉียว
  • แสนหวี – มูเซ รวมความยาวทั้งสิ้นประมาณ 2,140 กิโลเมตรใช้การทุกฤดูกาล
  • ถนนสายย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์ ยาวประมาณ 730 กิโลเมตรขนานไปตามแม่น้ำอิระวดีผ่านเมืองสำคัญคือ เมืองแปร แมดเว ปาเดาว์ตัดขนานกับทางรถไฟ
  • ถนนสายเมตติลา – ท่าขี้เหล็ก ยาวประมาณ 900 กิโลเมตรเชื่อมต่อกับถนนพหลโยธินของไทยในเขตอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นถนนสายสำคัญที่ผ่านเมืองเชียงตุงในรัฐฉานไปเชื่อมต่อกับถนนเข้าสู่ประเทศจีนที่เมืองลา
  • ถนนสายพะโค – มะริด ยาวประมาณ 680 กิโลเมตร เชื่อมต่อภาคกลางตอนใต้ไปยังภาคใต้สุดของเมียนมาร์ ผ่านเมืองท่าตอน-มะละแหม่ง-เย-ทะวาย-มะริด
  • ถนนสายตองอู-สีป๊อ ยาวประมาณ 560 กิโลเมตร เริ่มจากเมืองตองอู ผ่านเมืองดอยก่อ-ดอยแหลม-ตองยี-จ๊อกแบ-สีป๊อ
  • ถนนสายสะโกร์ – อิมพัล ยาวประมาณ 460 กิโลเมตรผ่านเมืองฉ่อยโบ – กาเลวาถึงเมืองอิมพัลในอินเดีย
  • ถนนสายลิโด หรือสติลเวลล์ ยาวประมาณ 370 กิโลเมตร เป็นถนนเชื่อมต่อเมียนมาร์กับอินเดีย เริ่มจากเมืองลิโดแคว้นอัสสัมของอินเดีย ผ่านลงไปทางใต้ด้านหุบเขาฮูกวงข้างแม่น้ำอิระวดีที่มิตจินา ผ่านมาโมมิจินาไปบรรจบกับถนนสายเมียนมาร์ที่มูเซ
ทางรถไฟ
ทางรถไฟของเมียนมาร์ได้เปิดดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2481 ที่สำคัญได้แก่
  • สายย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์  มีความยาวประมาณ 500 กิโลเมตรสร้างขนานกับแม่น้ำสะโตงที่มัณฑะเลย์เป็นชุมทางแยกไปยังมิตจินาและลาเฉียว
  • สายย่างกุ้ง- แปร มีความยาวประมาณ 250 กิโลเมตร สร้างขนานกับแม่น้ำอิระวดี ท่าข้ามที่เฮนซาด่ำมีทางแยกไปยังพื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดี
  • สายย่างกุ้ง –เมาะตะมะ มีความยาวประมาณ 270 กิโลเมตร แยกจากสายย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์ที่เมืองพะโคแล้วข้ามแม่น้ำสะโตงไปสู่เมืองเมาะตะมะ
  • สายมะละแหม่ง-เมืองงาย มีความยาวประมาณ 160 กิโลเมตร ทางสายนี้มีทางแยกที่บ้านตันบ่วยซายัดผ่านด่านเจดีย์สามองค์เข้าสู่ประเทศไทย
  • สายมัณฑะเลย์-มิตจินา มีความยาวประมาณ 640 กิโลเมตร
การขนส่งทางน้ำ
การคมนาคมขนส่งทางน้ำภายในประเทศนับว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศเมียนมาร์เป็นอย่างมากและยังเป็นเส้นทางคมนาคมหลักมาตั้งแต่อดีต เนื่องจากพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำอิรวะดีมีทางน้ำอยู่มากมายและเป็นเขตที่มีประชาชนพลเมืองอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดประกอบกับเส้นทางถนนและทางรถไฟยังมีจำกัด
ท่าเรือที่สำคัญ
ท่าเรือที่สำคัญในเมียนมาร์ ได้แก่
  • บริษัท Myanmar International Terminals Thilawa (MITT) ตั้งอยู่ที่ท่าเรือ Thilawa กรุงย่างกุ้ง สหภาพเมียนมาร์ เป็นบริษัทขนส่งโดยใช้ตู้คอนเทนเนอร์บรรทุกสินค้า และไม่มีห้องเก็บสินค้า ความจุของตู้คอนเทนเนอร์โดยรวม 100,000 เมตริกตันต่อเดือน มีที่พักจอดเรือทั่วไปได้ 4 ลำ พื้นที่ 550 เมตร และจอดเรือตู้คอนเทนเนอร์ได้ 2 ลำ พื้นที่ 450 เมตร รับปริมาณน้ำที่ลดลงจากการจอดเรือได้ 10 เมตร รวมความยาวท่าเรือของบริษัท MITT ทั้งหมด 1,000 เมตร และรับส่งสัญญาณวิทยุได้ไกล 30 เมตร
  • บริษัท Myanmar Integrated Port Limited (MIPL) ตั้งอยู่ที่ท่าเรือ Thilawa กรุงย่างกุ้ง เป็นบริษัทที่รับขนส่งสินค้าเทกอง และสินค้าทั่วไป ไม่มีตู้คอนเทนเนอร์ ศักยภาพในการจัดส่งสินค้าเทกอง 30,000 เมตริกตันต่อเดือน และสินค้าทั่วไป 20-25,000 เมตริกตันต่อเดือน มีที่พักเรือได้ 1 ลำ พื้นที่สูงสุด 198 เมตร รับปริมาณน้ำลดลงจากการจอดเรือได้ 9 เมตร ความยาวท่าเรือของบริษัท MIPL ทั้งสิ้น 200 เมตร
  • ท่าเรือ Asia World Port Terminal (AWPT) ตั้งอยู่ที่กรุงย่างกุ้ง เป็นท่าเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ ความจุตู้คอนเทนเนอร์รวม 3,809 TEU ต่อเดือน มีพื้นที่จอดเรือตู้คอนเทนเนอร์ได้ 2 ตู้ ในพื้ที่นสูงสุด 198 เมตร รับปริมาณน้ำที่ลดลงจากการจอดเรือได้ 9.2 เมตร
การคมนาคมขนส่งทางทะเล
ได้แก่ การเดินเรือเลียบชายฝั่งเพื่อรับส่งสินค้า และผู้โดยสารตามเมืองชายฝั่งทะเลและการเดินเรือระหว่างประเทศ มีเส้นทางเดินเรือไปยังยุโรปที่ประเทศอังกฤษ สำหรับในเอเชียมีเส้นทางเดินเรือไปยังประเทศฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น ศรีลังกาและอินเดีย เป็นต้นท่าเรือที่สำคัญมีกระจายอยู่ตามเมืองที่อยู่ชายทะเลและอยู่บนลำน้ำที่เรือเดินทะเลเข้าถึง ได้แก่
  • ท่าเรือย่างกุ้ง ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำย่างกุ้ง อยู่ห่างจากปากแม่น้ำย่างกุ้งประมาณ 35 กิโลเมตร เป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุด เรือเดินทะเลมีระวางขับน้ำ 1,500 ตันสามารถใช้ท่าเรือนี้ได้
  • ท่าเรืออัคยับ เป็นท่าเรือเก่าแก่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจทางด้านตะวันตก เรือเดินทะเลขนาดใหญ่เข้าจอดเทียบท่าได้สะดวก
  • ท่าเรือมะละแหม่ง ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำมะละแหม่ง อยู่ห่างจากปากแม่น้ำประมาณ 45 กิโลเมตรเป็นท่าเรือสำคัญทางด้านตะวันออกของประเทศ
  • ท่าเรือพะสิม อยู่บนฝั่งแม่น้ำพะสิมห่างจากปากแม่น้ำประมาณ 10 กิโลเมตร ใช้สำหรับเรือขนาดเล็กเท่านั้นเพราะร่องน้ำบางตอนคดเคี้ยวเป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือขนาดใหญ่
  • ท่าเรือทะวาย เป็นท่าเรือขนาดเล็กต้องใช้เรือเล็กขนถ่ายสินค้าจากเรือใหญ่ที่จอดอยู่ที่ปากอ่าวทวาย
  • ท่าเรือมะริด ตั้งอยู่ที่ปากน้ำตะนาวศรี เป็นท่าเรือชายฝั่งที่สำคัญใช้ประโยชน์ในการประมง และการค้าขายกับประเทศไทยและหมู่เกาะอันดามันของอินเดีย
ที่มา: กรมส่งเสริมการส่งออก, 2555

โอกาสทางการค้าและปัญหาอุปสรรค

จุดแข็ง (Strengths)
เมียนมาร์เป็นตลาดขนาดใหญ่มีประชากรหนาแน่นประมาณ 56 ล้านคน มีอาณาเขตติดกับจีน อินเดีย บังคลาเทศ ลาว และไทย ทำให้เมียนมาร์เป็นประเทศที่อยู่ท่ามกลางของกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชียใต้ ทำให้มีความได้เปรียบในการติดต่อทำการค้า การส่งออกและนำเข้า รวมทั้งการส่งสินค้าผ่านแดนไปยังประเทศต่างๆ นอกจากนี้เมียนมาร์ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เหมาะแก่การเป็นฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรม
จุดอ่อน (Weaknesses)
แรงงานของเมียนมาร์ส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ รวมทั้งเมียนมาร์ขาดผู้ที่มีความรู้ในด้านการทำธุรกิจต่างประเทศขาดสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน ประกอบกับกฎระเบียบทางการค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ราชการมีการคอรัปชั่นสูงและเมียนมาร์ยังมีอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศสูง
โอกาส (Opportunities)
การพัฒนาตลาดของเมียนมาร์ในอนาคตอาจจะพัฒนามากขึ้นจากการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน และขนาดตลาดเมียนมาร์มีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับตลาดของไทย ซึ่งไทยสามารถใช้เมียนมาร์เป็นประตูระบายสินค้าของไทยสู่ประเทศที่สามรวมทั้งใช้เมียนมาร์เป็นฐานในการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกในอนาคต ซึ่งสามารถสรุปถึงโอกาสต่างๆ ได้ดังนี้
  • การชำระค่าสินค้าระหว่างไทยและเมียนมาร์ จะเป็นการให้เครดิตซึ่งกันและกัน ซึ่งผู้ส่งออกของไทยมักจะให้เครดิตแก่นักธุรกิจชาวเมียนมาร์นานกว่าประเทศคู่แข่งอื่นๆ รวมทั้งการซื้อขายสินค้าระหว่างไทยกับเมียนมาร์จะทำกันแบบง่ายๆ โดยใช้สกุลเงินบาทและเงินจ๊าต
  • สินค้าที่นำเข้าจากชายแดนไทยมีราคาต่ำกว่าคู่แข่งและสินค้าไม่ได้รับความเสียหายในขณะขนส่ง
  • คุณภาพของสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยเป็นที่นิยมของชาวเมียนมาร์ เนื่องจากได้รับอิทธิพลของการค้าชายแดนที่มีมาเป็นเวลานาน ทำให้ชาวเมียนมาร์แถบชายแดนนิยมบริโภคสินค้าไทยมากกว่าของประเทศคู่แข่ง
  • การบริการขนส่งสินค้าไทยสามารถจัดส่งได้รวดเร็วและสามารถระบุสถานที่รับสินค้าได้
  • ไทยสามารถค้าขายตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์ ทำให้การกระจายสินค้าเข้าสู่เมืองต่างๆ ของเมียนมาร์เข้าไปได้ทั่วถึงทุกพื้นที่ในแถบชายแดนไทย-เมียนมาร์
  • ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการพัฒนาระบบธนาคาร และฝึกอบรมด้านการจัดระบบเอกสารให้แก่เมียนมาร์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ส่งออกของไทยในเรื่องการเปิด L/C
  • ประเทศไทยมีความได้เปรียบในแง่ของยุทธศาสตร์ทางด้านเศรษฐกิจของเมียนมาร์มากกว่าประเทศคู่แข่งอื่น เช่น จีน บังคลาเทศ และอินเดีย ซึ่งนอกจากการติดต่อค้าขายระหว่างกัน และชาวเมียนมาร์ยังเข้าทำงานในฐานะแรงงานในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความคุ้นเคยและยอมรับในสินค้าไทยทั้งคุณภาพและราคา
อุปสรรค (Threats)
จากที่ได้มีการติดตามศึกษาข้อมูลได้พบว่านักธุรกิจไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้รับทราบกลายเป็นข้อมูลด้านลบที่ส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิด ข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับมาจากแหล่งต่างๆ เป็นข้อมูลเชิงด้านการเมือง ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้ในภาคธุรกิจอย่างสิ้นเชิง จึงส่งผลให้เกิดความผิดพลาดในการวางแผนการประสานงานระหว่างกัน รวมทั้งสิ่งที่สำคัญคือข้อมูลต่างๆของทางการเมียนมาร์จะไม่เผยแพร่ให้แก่สาธารณชนได้รับรู้ปัญหาในเรื่องความไม่เข้าใจแนวทางหรือพฤติกรรมด้านการค้าของตลาดเมียนมาร์ก็เป็นปัญหาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เป็นอุปสรรคการค้าระหว่างไทยกับเมียนมาร์ คือผู้ประกอบการไทยมีความต้องการที่จะรองรับระบบการค้าของตลาดเมียนมาร์ทั้งหมดแต่ไม่สามารถหาข้อมูลดังกล่าวได้ จึงทำให้เกิดปัญหาความไม่แน่ใจในการทำการค้าทั้งนี้แนวทางในการปฏิบัติที่ถูกต้องซึ่งนักธุรกิจไทยไม่จำเป็นที่จะต้องรู้ว่าการส่งสินค้าไปยังตลาดเมียนมาร์ต้องทำอย่างไรหรือต้องทำโดยใคร (เนื่องจากข้อมูลบางอย่างผู้ที่เกี่ยวข้องมีความประสงค์ต้องการปกปิด) ทั้งนี้ การค้ากับตลาดเมียนมาร์ควรวางแนวทางเหมือนกับการค้ากับต่างจังหวัด การตกลงการค้าสามารถทำเป็นเงินบาทได้ผู้ซื้อจะโอนเงินค่าสินค้าเข้าสู่บัญชีในประเทศไทยได้โดยตรงไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ระบบการค้าสากลเหมือนกับที่ต้องทำการค้ากับประเทศอื่นๆ ปัญหาในการทำการค้ากับเมียนมาร์ที่อาจเกิดขึ้นเช่น
  • ค่าขนส่งจากชายแดนไทยสูงเพราะมีการเรียกเก็บค่าคุ้มครองทำให้มีเงื่อนไขต้องไปเรียกเก็บกับผู้ประกอบการแต่สินค้าจากจีนขนส่งเข้ามาในเมียนมาร์ได้สะดวกกว่าทำให้สินค้าไทยมีต้นทุนเพิ่มขึ้น
  • เส้นทางขนส่งสินค้าไทยที่เป็นเส้นทางหลักคือด่านแม่สอดมีระยะทางจากแม่สอดถึงย่างกุ้งประมาณ 420 กิโลเมตรแต่ต้องใช้เวลาประมาณ 3 – 7 วัน เนื่องจากความยังไม่สะดวกในเส้นทางและโดยเฉพาะการขนส่งหน้าฝนจะทำให้เกิดความล่าช้าและความเสียหายแก่สินค้าได้หากไม่ป้องกัน
  • ตลาดมีศักยภาพแต่ระบบยังไม่เอื้ออำนวยเพื่อการค้าเท่าที่ควร ทั้งเรื่องความชัดเจนในข้อมูลด้านขนส่ง เป็นต้น
ที่มา: กรมส่งเสริมการส่งออก, 2555

การลงทุน

การลงทุนจากต่างประเทศ

ขณะที่การลงทุนในเมียนมาร์ปัจจุบันจีนมีการลงทุนสะสมมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง โดยปัจจุบัน (วันที่ 31 ธันวาคม 2557) จีนได้รับอนุมัติลงทุนเป็นอันดับหนึ่ง โดยได้รับอนุมัติลงทุนไป 87 โครงการ มูลค่ากว่า 1.44 หมื่นล้านเหรียญ หรือราว 4.73 แสนล้านบาทรองลงมาคือ ประเทศไทยได้รับอนุมัติไป 81 โครงการ มูลค่า 1.02 หมื่นล้านเหรียญ หรือราว 3.35 แสนล้านบาท ตามมาด้วยสิงคโปร์ ได้รับอนุมัติไป 149 โครงการ มูลค่า 8,336 ล้านเหรียญ หรือราว 2.72 แสนล้านบาท โดยมาเลเซียอยู่ที่อันดับ 7 ได้รับอนุมัติ 50 โครงการ มูลค่า 1,654 ล้านเหรียญ หรือราว 5.4 หมื่นล้านบาท เวียดนามอันดับ 8 ได้อนุมัติ 8 โครงการ มูลค่า 688 ล้านเหรียญ หรือราว 2.24 หมื่นล้านบาท (หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์, 2558)

ขั้นตอนการเข้ามาลงทุนในประเทศเมียนมาร์

เงื่อนไขและระยะเวลาของขั้นตอนการลงทุน
  1. ยื่นเสนอโครงการต่อ MIC
  2. ประเมินโครงการเบื้องต้นพร้อมความเห็น
  3. อนุมัติจาก MIC, คณะกรรมการการค้าและคณะรัฐมนตรี
  4. MIC ออกใบอนุญาตการลงทุนเพื่อการประกอบการ
  5. ยื่นขอใบอนุญาตจากกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจและแผนแห่งชาติ ก่อนจัดตั้งบริษัท
  6. จดทะเบียนบริษัทต่อนายทะเบียนบริษัท
คณะกรรมาธิการการลงทุนของสหภาพเมียนมาร์ (Myanmar Investment Commission: MIC) ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นองค์กรในการพิจารณาอนุมัติเบื้องต้นแก่การลงทุนต่างชาติ โดยมีหน้าที่หลัก คือ การประเมินโครงการการลงทุนต่างชาติ มีอำนาจหน้าที่ออกข้อกำหนดและเงื่อนไขเกี่ยวกับใบอนุญาตการลงทุนและประเมินสถานการณ์การลงทุนต่างชาติ
กระบวนการยื่นขอลงทุน
ภายใต้กฎหมายการลงทุนของต่างชาติ ปี 2555 กระบวนการยื่นขอลงทุนยังคงประกอบด้วย 3 ขั้นตอนเหมือนในอดีต ได้แก่
  1. การยื่นขอใบอนุญาตการลงทุนจากคณะกรรมาธิการการลงทุน
  2. การยื่นขอใบอนุญาตเพื่อทำการค้าจากสำนักผู้อำนวยการการจัดการบริษัทและการลงทุน (Directorate of Investment and Company Administration: DICA)
  3. จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทต่อสำนักจดทะเบียนบริษัท (Companies Registration Office)
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, 2557

สิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน

กิจการโทรคมนาคมและไปรษณีย์
รัฐบาลเมียนมาร์เป็นผู้ควบคุมกิจการทั้งหมด ในช่วงปี 2550 ได้มีการติดตั้งสายส่งโทรคมนาคมถึง 503,900 สาย เพิ่มขึ้นจาก 447,097 สาย ในปี 2548 แต่ยังไม่เพียงพอ จึงเปิดให้นักลงทุน เอกชนเข้าร่วมดำเนินกิจการ โทรศัพท์มือถือ พบว่าในปี 2551 มีประชาชนใช้เพิ่มขึ้นเป็น 214,200 หมายเลข คิดเป็นร้อยละ 0.4 ของประชากรทั้งหมด ถือว่าเป็นสัดส่วนที่ต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่ม CLMV เช่น กัมพูชา มีร้อยละ 18 และ เวียดนามมีร้อยละ 27 อินเตอร์เน็ตมีสองหน่วยงานหลัก ได้แก่ กระทรวงโทรคมนาคมและไปรษณีย์ (MPT) และ Myanmar Teleport
ทั้งนี้เป็นเพราะอินเตอร์เน็ตในเมียนมาร์มีราคาแพงแต่มีความเร็วต่ำ รวมทั้งมีการตรวจสอบผู้ต้องสงสัยทางการเมืองจากรัฐบาลเมียนมาร์ และสั่งปิดกั้นการเข้าเว็บไซต์ต่างชาตินอกเครือข่ายเมียนมาร์ด้วย ซึ่งด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตค่อนข้างต่ำ โดยพบว่าในปี 2550 มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเพียง 40,000 คน หรือคิดเป็นอัตราส่วน 1 : 1,000 คน เท่านั้น ในขณะที่เวียดนามมีอัตราส่วนผู้ใช้มากที่สุด ในกลุ่ม CLMV คือ 205 : 1,000 คน รองลงมาคือ ลาวมี 17 : 1,000 คนและประเทศกัมพูชา 5 : 1,000 คน (กรมส่งเสริมการส่งออก, 2555)
ราคาค่าจ้างและที่ดินในเมียนมาร์
เนื่องจากนานาประเทศต่างจับจองที่จะลงทุนในประเทศเมียนมาร์ ทำให้ต้นทุนในการดำเนินการธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบันจึงทำให้มีการคาดการณ์ว่า การค้าและการลงทุนของเมียนมาร์หลังปี 2515 ต้นทุนการทำธุรกิจในเมียนมาร์กำลังมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างผิดปกติ โดยค่าจ้างแรงงานในเมืองใหญ่มีค่าจ้างแรงงานต่อวันมากกว่า 120 บาทต่อวัน ขณะที่ในย่างกุ้งอยู่ที่ระดับ 150 บาทต่อวัน ซึ่งไม่รวมค่าสวัสดิการ การรับส่งพนักงาน และอาหารการกินที่ต้องมีให้พนักงาน โดยเชื่อว่าภายในอีก 3 ปีข้างหน้า ค่าแรงในเมียนมาร์จะปรับขึ้นสูงถึง 250 บาทต่อวันทั่วประเทศ ขณะที่ราคาที่ดินก็ปรับเพิ่มสูงขึ้นกว่า 200-300% โดยราคาที่ดินนอกเขตอุตสาหกรรมจะสูงกว่าในเขตอุตสาหกรรม ส่วนราคาซื้อขายและเช่าที่ดินในกรุงย่างกุ้งในปี 2552 อยู่ที่ราคาไร่ละ 15.5 ล้านบาท โดยในปี 2556 มีราคาอยู่ที่ไร่ละ 128 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 450% และปี 2559 คาดว่าจะมีราคาอยู่ที่ไร่ละ 232 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 900% ส่วนที่ดินในเมืองมัณฑะเลย์ในปี 2556 มีราคาอยู่ที่ไร่ละ 35.6 ล้านบาท และ ในปี 2559 จะมีราคาสูงขึ้นอยู่ที่ 61.9 ล้านบาทต่อไร่ ส่วนราคาที่ดินในทวาย ในปี 2556 มีราคาอยู่ที่ไร่ละ 110 ล้านบาท และในปี 2559 จะมีราคา 140 ล้านบาทต่อไร่ โดยในอีก 3 ปีค่าเช่าที่กรุงย่างกุ้งจะเพิ่มสูงขึ้น
สำหรับสัญญาการเช่าที่ดินในกรุงย่างกุ้งในปี 2556 อยู่ที่ราคา 4.5 ล้านบาทต่อไร่ต่อปี ส่วนปี 2559 จะปรับสูงขึ้นอยู่ที่ 8.75 ล้านบาทต่อไร่ต่อปี โดยสัญญาเช่าที่ดินในเขตเศรษฐกิจพิเศษทิลาวาจะมีราคาอยู่ที่ 2.5 ล้านบาทต่อไร่ต่อปี และในเขตทวายมีราคาอยู่ที่ 3.5 แสนบาทต่อไร่ต่อปี จากต้นทุนทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับดัชนีสิ่งอำนวยความสะดวกทางธุรกิจในเมียนมาร์ โดยดัชนีโลจิสติกส์เมียนมาร์จัดว่าอยู่ในระดับต่ำมาก เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ในอาเซียน โดยเมียนมาร์อยู่ในระดับ 2.33 ขณะที่กัมพูชาอยู่ที่ 2.37 ลาว 2.46 เวียดนาม 2.96 เช่นเดียวกับการผลิตไฟฟ้าพบว่ายังเป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมและครัวเรือน สอดคล้องกับเครือข่ายโทรศัพท์ ที่ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ (กรุงเทพธุรกิจ, 2556)

กฎระเบียบและนโยบายส่งเสริมการลงทุน

กฎหมายการลงทุน

สหภาพเมียนมาร์ได้บังคับใช้กฎหมายการลงทุนของต่างชาติและประกาศที่เกี่ยวข้องอีก 2 ฉบับ เพื่อกำหนดกรอบและแนวทางให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติ ดังนี้
  • กฎหมายการลงทุนของต่างชาติ ปี 2555 (Foreign Investment Law 2012)
  • Notification 1/2013 กำหนดกิจกรรมหรือประเภทธุรกิจที่อนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนได้ และรวมถึงประเภทธุรกิจที่ต้องจัดตั้งขึ้นในลักษณะของธุรกิจร่วมทุน (Joint Venture) เช่นการขุดเจาะน้ำมัน การพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การทำเหมืองแร่เป็นต้น ทั้งนี้ สัดส่วนการถือหุ้นในธุรกิจร่วมทุนระหว่างหุ้นส่วนที่เป็นคนชาติกับต่างชาตินั้นขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ อาทิ ธุรกิจการขุดเจาะน้ำมันกฎหมายฉบับนี้บัญญัติให้เป็นไปตามข้อตกลงของคู่สัญญาธุรกิจการทำเหมืองแร่ถูกกำหนดไว้ให้ชาวต่างชาติเข้าถือหุ้นได้ไม่เกิน 80% ของเงินทุน
  • Notification 11/2013 กำหนดเกี่ยวกับการยื่นขอใบอนุญาตการลงทุนต่างๆ การใช้ที่ดิน การโอนหุ้น การส่งเงินตราต่างประเทศและการได้มาซึ่งหลักประกันในที่ดินและอาคารอันจะต้องนำไปจดทะเบียนไว้ต่อสำนักงานทะเบียนสิทธิ (Deed Registration Office) ภายใน 21 วัน นับแต่วันที่ก่อให้เกิดหลักประกัน
ระดับการลงทุนขั้นต่ำ
ไม่มีระดับการลงทุนขั้นต่ำกำหนดไว้ภายใต้กฎหมายการลงทุนฉบับใหม่นี้ อย่างไรก็ตาม มาตรา 37 ของกฎหมายการลงทุนบัญญัติ ให้เป็นดุลยพินิจของคณะกรรมาธิการการลงทุนในการพิจารณาเงินลงทุนของแต่ละโครงการ ซึ่งหมายความว่าการลงทุนในลักษณะเดียวกันในอีกโครงการหนึ่ง อาจเรียกให้มีระดับเงินทุนที่สูงกว่าอีกโครงการหนึ่งได้ อันเป็นเงื่อนไขก่อนการอนุมัติให้เข้ามาลงทุน
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, 2557

การคุ้มครองการลงทุน

การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
กฎหมายการลงทุนของต่างชาติฉบับใหม่นี้อนุญาตให้สามารถโอนเงินตราต่างประเทศผ่านธนาคารที่ได้รับอนุญาตตามอัตราแลกปลี่ยนที่กำหนดไว้นอกจากนี้ยังมีกฎหมายบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ (Foreign Exchange Management Law) ที่กำหนดแนวทางการทำธุรกรรมไว้ อันได้แก่ บริษัทของนักลงทุนต่างชาติมีสิทธิถือเงินตราต่างประเทศและมีบัญชีธนาคารเงินตราต่างประเทศได้ไม่มีข้อจำกัดในการโอนเงินเข้า – ออกจากบัญชีกระแสรายวันเงินตราต่างประเทศอาจถูกโอนกลับไปยังต่างประเทศได้ภายหลังจากการตรวจสอบและอนุมัติของ MIC
สำหรับบริษัทที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ MIC หรือจากธนาคารกลาง (Central Bank) ในกรณีที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับ MIC อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติบริษัทของนักลงทุนต่างชาติจำเป็นต้องเปิดบัญชีในเมียนมาร์สำหรับการโอนเงินทุนเข้ามาและเงินกู้ส่วนการโอนเงินกลับไปนอกประเทศบริษัทจะต้องเปิดบัญชีสำหรับเงินสกุลต่างประเทศและเงินสกุลท้องถิ่นไว้กับธนาคารเมียนมาร์ที่มีใบอนุญาตเฉพาะการจ่ายเงินปันผลดอกเบี้ย และส่งคืนเงินทุนที่เป็นเงินกู้ตามที่ได้รับอนุญาตจาก MIC ต้องได้รับอนุมัติจาก MIC ก่อนที่ธนาคารจะส่งเงินออกนอกประเทศ
การเวนคืนและการชดเชย
ตามกฎหมายการลงทุนของต่างชาติฉบับใหม่ รัฐบาลประกันเรื่องการเวนคืนธุรกิจตลอดระยะเวลาของอายุสัญญาการลงทุนหรืออายุสัญญาที่ได้ขยายไปแล้ว
การรับประกันการลงทุน
รัฐบาลสหภาพเมียนมาร์รับประกันที่จะไม่ระงับธุรกิจการลงทุนที่ดำเนินการภายใต้ใบอนุญาตของคณะกรรมาธิการก่อนสิ้นอายุของใบอนุญาต ทั้งนี้ เมียนมาร์ได้เข้าทำความตกลงทวิภาคีในการคุ้มครองการลงทุนไว้กับประเทศฟิลิปปินส์ เวียดนาม จีนสปป.ลาว ไทย อินเดีย และคูเวต
การส่งเงินทุน/กำไรกลับประเทศ
ภายใต้กฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Investment Law) ของสหภาพเมียนมาร์ ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมและดูแลของคณะกรรมาธิการส่งเสริมการลงทุนของเมียนมาร์ (Myanmar Investment Commission: MIC) มีหลักประกันและการคุ้มครองดังนี้
  • อนุญาตให้นำเงินตราต่างประเทศเข้า–ออกได้
  • อนุญาตให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในเมียนมาร์ส่งเงินกลับได้หลังจากหักภาษีเงินได้และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เรียบร้อยแล้ว
นักลงทุนต่างชาติสามารถส่งเงินปันผลออกนอกเมียนมาร์ได้ทุกปี จากรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ภาษีและสวัสดิการของพนักงาน เช่น โบนัสและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและจ่ายเงินสมทบในส่วนของนายจ้างเข้ากองทุนประกันสังคมครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว นอกจากนี้ ยังต้องมีการกันส่วนกำไรไว้ในกองทุนในการพัฒนาบริษัทด้วยเงินที่เหลือจากการหักค่าใช้จ่ายเหล่านี้สามารถส่งออกนอกประเทศได้โดยการขออนุมัติจาก MIC และ Foreign Exchange Management Board (FEMB) ซึ่งเป็นหน่วยงานของธนาคารกลางเมียนมาร์
สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (IPRs)
สหภาพเมียนมาร์อยู่ระหว่างการปรับปรุงระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของตนเองอยู่ สิทธิในทางทรัพย์สินทางปัญญาที่มีอยู่ในขณะนี้เป็นไปตามกฎหมายอังกฤษ ซึ่งรวมถึงพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ปี 2454 และกฎหมายคอมมอนลอว์เรื่องลวงขาย อันเห็นได้ชัดว่ายังไม่มีการให้ความคุ้มครองเครื่องหมายการค้าอย่างเฉพาะเจาะจง เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายเครื่องหมายการค้าบังคับใช้โดยตรง อย่างไรก็ตาม เครื่องหมายการค้าอาจได้รับความคุ้มครองในขอบเขตที่จำกัดตามพระราชบัญญัติการจดทะเบียน (Registration Act) ที่จะก่อให้เกิดหลักฐานทางเอกสารในเบื้องต้น ซึ่งแสดงถึงความเป็นเจ้าของในเครื่องหมายการค้านั้นๆ ทั้งนี้ ในฐานะที่เมียนมาร์เป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหมดให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศดังกล่าว
การระงับข้อพิพาท
สหภาพเมียนมาร์ได้ลงนามเป็นภาคีสมาชิกของ New York Convention on the Recognition of Enforcement of Foreign Arbitral Awards 1958 ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2556 แต่ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงการอนุวัติการใช้บังคับโดยรัฐสภาของเมียนมาร์ เช่นนี้หากมีการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการทางอนุญาโตตุลาการขึ้นในช่วงก่อนการบังคับใช้ของกฎหมายฉบับนี้ จึงยังคงต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ ปี 2487 ไปก่อน

การกำหนดเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจ

กฎหมายการลงทุนต่างชาติ (Foreign Investment Law) ห้ามนักลงทุนต่างชาติลงทุนในกิจการต่อไปนี้
  • กิจการที่อาจมีผลกระทบต่อประเพณีและวัฒนธรรมของคนเมียนมาร์
  • กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาวะของประชาชน
  • ธุรกิจที่มีผลต่อสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศน์
  • การนำเข้าสารเคมีอันตรายและของเสีย
  • อุตสาหกรรมที่ใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายตามความตกลงระหว่างประเทศ
  • การผลิตหรือการให้บริการที่สงวนไว้เฉพาะคนเมียนมาร์
  • อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี เครื่องจักร หรือวิธีการที่ยังอยู่ในขั้นทดลองหรือยังไม่ได้รับการ รับรองตามมาตรฐานสากลว่าปลอดภัย
  • การลงทุนด้านการเกษตรหรือการเพาะปลูกประเภทที่สงวนไว้เฉพาะคนเมียนมาร์
  • การผสมพันธุ์สัตว์ที่สงวนไว้สำหรับคนเมียนมาร์เท่านั้น
  • การประมงที่สงวนไว้เฉพาะคนเมียนมาร์
  • โครงการลงทุนที่ห่างจากชายแดนไม่เกิน 10 ไมล์ (ประมาณ 16 กิโลเมตร) เว้นแต่ว่าอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐบาลอนุญาตแล้วเท่านั้น
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, 2557

นโยบายการถือหุ้นของต่างชาติ

นักลงทุนต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ 100% อย่างไรก็ดี หากเป็นการลงทุนในกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ระหว่างนักลงทุนต่างชาติกับนักลงทุนชาวเมียนมาร์ นักลงทุนต่างชาติจะต้องมีสัดส่วนการลงทุนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 35 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด และต้องโอนเงินไปฝากไว้กับ Myanmar Foreign Trade Bank (MFTB)
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, 2557

สิทธิประโยชน์การลงทุน

สิทธิประโยชน์ทางภาษี
  • ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 5 ปี
  • ถ้ามีการนำกำไรมาลงทุนต่อจะได้รับยกเว้นภาษีรายได้ในส่วนนั้นเพิ่มเติมอีก 1 ปี
  • หากเป็นการลงทุนเพื่อการส่งออกจะเสียภาษีรายได้ในส่วนของกำไรเพียงร้อยละ 50
  • การนำเข้าเครื่องจักรอะไหล่ส่วนประกอบวัตถุดิบที่จำเป็นต้องนำเข้าในช่วงการก่อสร้างโครงการจะได้รับยกเว้นภาษีศุลกากร
  • ได้รับยกเว้นภาษีศุลกากรในการนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้สำหรับการผลิตเมื่อเริ่มโครงการแล้วโดยจะได้รับยกเว้นเป็นระยะเวลา 3 ปีหลังจากที่ก่อสร้างโครงการเสร็จแล้ว
  • การผลิตเพื่อการส่งออกจะได้รับยกเว้นภาษีการค้า
สิทธิประโยชน์อื่น
  • นักลงทุนต่างชาติมีสิทธิใช้ที่ดินในประเทศเมียนมาร์โดยการเช่าไม่ว่าจะเช่าหน่วยงานของรัฐหรือจากเอกชนเป็นระยะเวลา 50 ปี และสามารถต่อสัญญาเช่าได้ครั้งละ 10 ปี 2 ครั้ง
  • ในช่วง 2 ปีแรกของการดำเนินงานนักลงทุนต่างชาติสามารถจ้างแรงงานต่างชาติได้แต่จะต้องมีการจ้างแรงงานสัญชาติเมียนมาร์ในสัดส่วนอย่างน้อยร้อยละ 25 ของการจ้างงานทั้งหมด
เขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone)
เมื่อเดือนมกราคม 2554 รัฐบาลสหภาพเมียนมาร์ได้ประกาศกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นเพื่อรองรับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone: SEZ) ที่กำหนดให้เป็นพื้นที่ลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมหนักต่างๆ อาทิ ปิโตรเคมี เหล็ก อุตสาหกรรมสินค้าไฮเทค จำพวกอุปกรณ์ไอทีและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น โดยแต่ละเขตจะมีการสร้างท่าเรือน้ำลึกและระบบการขนส่งทั้งถนนและระบบรางเพื่อรองรับการผลิตของภาคอุตสาหกรรม และรัฐบาลเมียนมาร์ได้กำหนดพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นพื้นที่เขตอุตสาหกรรมส่งออก (Export Processing Zone: EPZ) ที่จะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี ประกอบด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei) เขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะรัมรีหรือจ๊อกผิ่ว (KyaukPhyu) เขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา (Thilawa)
สาขาที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน
กฎหมายการลงทุนต่างชาติ (Foreign Investment Law) ไม่ได้ระบุสาขาที่รัฐบาลสหภาพเมียนมาร์ต้องการส่งเสริมการลงทุน แต่รัฐบาลเมียนมาร์ได้กำหนดเขตอุตสาหกรรมขึ้นมา 18 เขต เพื่อให้การสนับสนุนเอกชนให้เข้ามาลงทุน โดยในเขตนิคมอุตสาหกรรมมีการลงทุน 3 รูปแบบ คือ การลงทุนในโรงงานขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ซึ่งการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในภาคอาหารและเครื่องดื่ม การผลิตส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตของภาคอุตสาหกรรมขนาดเล็กร้อยละ 77.41 และขนาดกลางร้อยละ 14.80 ในขณะที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ยังมีไม่มาก รัฐบาลเมียนมาร์จึงต้องการสนับสนุนภาคการผลิตที่ขาดแคลน ได้แก่ เครื่องมือเกษตร เครื่องจักร เครื่องมือ ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า พาหนะยานยนต์เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดเมียนมาร์
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, 2557

สาขาที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน

กิจการที่ส่งเสริมให้ต่างชาติลงทุนมี 9 กิจการ ได้แก่
1. ด้านเกษตรกรรม
กระทรวงเกษตรและชลประทานของเมียนมาร์รับผิดชอบการพิจารณาและอนุมัติโครงการลงทุนด้านเกษตรกรรม รวมทั้งกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนภาคเกษตรกรรมมากขึ้น โดยนักลงทุนสามารถขอยื่นอนุมัติโครงการตามแผนการส่งเสริม
  • การเช่าและใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร
  • จัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมเกษตร
  • พัฒนากิจการอุตสาหกรรมเกษตรขนาดเล็กและการใช้เทคโนโลยีขนาดเบาในโรงงาน
  • การค้าผลิตผลทางการการเกษตรวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือการเกษตร
โดยลักษณะของการลงทุนด้านเกษตรกรรมอาทิ
  • เพาะปลูกผลิตแปรรูปและจำหน่ายพืชล้มลุก (รวมทั้งมันสำปะหลังและยาสูบ)
  • ทำไร่หรือแปรรูปพืชเป็นยา กาแฟ ชา น้ำมันปาล์ม พืชสวนและจำหน่ายผลผลิตของตน
2. ด้านปศุสัตว์และประมง
กระทรวงปศุสัตว์และประมงรับผิดชอบการสนับสนุนและขยายการลงทุนของนักลงทุนเอกชนตามนโยบายส่งเสริมดังนี้
  • ส่งเสริมการพัฒนาปศุสัตว์และประมงอย่างครบวงจร
  • ขยายผลิตผลเพื่อการบริโภคภายในประเทศและขายส่งออกนอกประเทศ
  • ส่งเสริมการขยายการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
  • ยกระดับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในกิจการปศุสัตว์และประมง
โดยลักษณะของการลงทุนด้านปศุสัตว์และการประมงได้แก่
  • เพาะเลี้ยงแปรรูปบรรจุกระป๋องและจำหน่ายสัตว์ปีกและผลผลิตของตนได้ (รวมทั้งการเพาะเลี้ยงและแปรรูปเนื้อหมู)
  • ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ additives ยารักษาโรคสัตว์และผลิตภัณฑ์เสริม
  • เพาะพันธ์จับปลาแปรรูปจำหน่ายปลาทะเลและปลาน้ำจืดกุ้งและสิ่งมีชีวิตในทะเลซึ่งรวมทั้ง fish fry fingerlings ตัวอ่อนของกุ้งแต่ทั้งนี้ไม่รวมการเพาะเลี้ยงปลาหรือกุ้งในการประมงที่รัฐบาลได้สงวนไว้เพื่อการวิจัยผลิต แปรรูป จำหน่ายอาหารปลาทุกชนิด
3. ด้านป่าไม้
บริษัทค้าไม้เมียนมาร์ (Myanmar Timber Enterprise) เป็นผู้รับผิดชอบกิจการป่าไม้ในเมียนมาร์ นักลงทุนต้องติดต่อเพื่อทำสัญญาลงทุนแบบร่วมทุนหรือดำเนินกิจการด้วยตนเองทั้งหมด
โดยลักษณะของการลงทุนด้านป่าไม้ ได้แก่
  • ผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างพื้นฐานเฟอร์นิเจอร์ Parquet เป็นต้นโดยใช้ไม้ที่ extracted และขายโดยองค์กรของรัฐ
  • ผลิตและจำหน่ายสินค้าแกะสลักและงานฝีมือจากไม้สักที่ extracted และขายโดยองค์กรของรัฐ
  • ผลิตแปรรูปและจำหน่ายไม้เนื้อแข็ง (นอกเหนือไปจากไม้สักไม้ไผ่หวายหรือผลิตผลจากป่า)
  • ผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างเฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ใช้ไม้เนื้อแข็ง (นอกเหนือไปจากไม้สัก) ไม้ไผ่หวายและผลิตผลจากป่า
4. ด้านเหมืองแร่
กระทรวงเหมืองแร่เป็นผู้รับผิดชอบการอนุมัติโครงการลงทุนเหมืองแร่ตามกฎหมายเหมืองแร่ปี 2537 (ค.ศ. 1994) และระเบียบเหมืองแร่ปี 2539 (ค.ศ.1996) การลงทุนในกิจการเหมืองแร่นักลงทุนต้องมีการแบ่งปันผลผลิตและการแบ่งปันผลกำไรให้แก่กระทรวง
โดยลักษณะของการลงทุนด้านเหมืองแร่
อาทิสำรวจใช้ผลิตและจำหน่ายแร่ธาตุที่ไม่ใช่โลหะที่ใช้ในอุตสาหกรรมเช่น ถ่านหิน หินปูน ยิปซั่มฯลฯ
5. ด้านพลังงาน
หมายรวมถึงกิจการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะการผลิตพลังงานจากน้ำมันและก๊าซได้รับการส่งเสริมให้มีการลงทุนจากต่างชาติมาก เนื่องจากใช้เงินลงทุนจำนวนมาก เทคโนโลยีชั้นสูง และใช้ทรัพยากรภายในประเทศทั้งสิ้น หน่วยงานที่รับผิดชอบการผลิตน้ำมันและก๊าซได้แก่กระทรวงพลังงานและบริษัทน้ำมันและก๊าซเมียนมาร์จำกัด (Myanmar Oil and Gas Enterprise : MOGE) การหาแหล่งก๊าซนอกชายฝั่งแห่งใหม่ นักลงทุนต้องทำสัญญาการแบ่งปันผลผลิตกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องด้วย
6. ด้านการผลิต
อุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก ได้แก่
อุตสาหกรรมเกษตรไม้ยางสังกะสี (แร่ทองแดง)
  • ผลิตผลจากทะเล
  • อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสิ่งทอ
  • ไฟฟ้า
  • รองเท้า
  • อุตสาหกรรมเบาอื่นๆ
อุตสาหกรรมการผลิตเพื่อตลาดในประเทศ
  • อุตสาหกรรมอาหาร
  • เครื่องดื่ม
  • อุปกรณ์การเกษตร เช่น ปุ๋ยยาฆ่าแมลงเครื่องมือการเกษตร
  • อุตสาหกรรมซีเมนต์
  • อุปกรณ์ไฟฟ้า
  • พลาสติก
  • เหล็ก
  • บรรจุภัณฑ์หีบห่อ
7. ด้านการท่องเที่ยว
เมียนมาร์มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง การเติบโตทางการท่องเที่ยวและโรงแรมจึงมีความจำเป็นเพื่อรองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเฉพาะรัฐบาลส่งเสริมให้มีชั้นเรียนนานาชาติในโรงเรียนการโรงแรม ตามเขตท่องเที่ยวสำคัญ รวมทั้งเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่ยังไม่มีโรงแรมระดับมาตรฐานนานาชาติเข้าไปรองรับ จึงเป็นโอกาสดีต่อการกิจการที่พักบังกะโลสโมสรกอล์ฟและสวนสนุก
8. ด้านการคมนาคมและการสื่อสาร
ต้องร่วมทุนกับรัฐบาลเมียนมาร์เท่านั้น
9. กิจการร่วมทุนกับรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ
ต้องได้รับการพิจารณาเฉพาะรายกิจการ นับตั้งแต่มีนโนยายส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา กิจการที่ชาวต่างชาติให้การลงทุนมากยังคงเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้แก่โรงผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติการทำเหมืองอุตสาหกรรมภาคพลังงานและอุตสาหกรรมการผลิต

ระบบการเก็บภาษี

ภาษีเงินได้นิติบุคคลสหภาพเมียนมาร์ใช้ระบบการเก็บภาษีชั้นเดียว คือ เก็บจากรายได้โดยตรงจากรายได้นิติบุคคล โดยไม่มีการเก็บภาษีจากรายได้ที่เกิดจากการได้รับเงินปันผลของนิติบุคคล ทั้งนี้ ผู้เสียภาษีนิติบุคคลแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. นิติบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในเมียนมาร์ (Resident)
สถานะของการมีถิ่นที่อยู่ในเมียนมาร์ กำหนดได้จากสถานที่ที่จดทะเบียนบริษัทนั้น หากเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในเมียนมาร์ภายใต้กฎหมายว่าด้วยบริษัทของเมียนมาร์ก็จะถือว่าเป็นบริษัทที่มีถิ่นที่อยู่ในเมียนมาร์ซึ่งมีหน้าที่ต้องเสียภาษีจากรายได้ที่ได้รับทั้งในและนอกประเทศเมียนมาร์ (Worldwide income)
2. นิติบุคคลที่ไม่ได้มีถิ่นที่อยู่ในเมียนมาร์ (Non-resident)
นิติบุคคลที่ไม่ได้มีถิ่นที่อยู่ในเมียนมาร์ หมายถึง บริษัทต่างชาติที่ไม่ได้อยู่ในประเทศเมียนมาร์แต่มีรายได้เกิดขึ้นในเมียนมาร์รวมทั้งสาขาของบริษัทต่างชาติ มีหน้าที่ในการเสียภาษีเฉพาะรายได้ที่เกิดขึ้นในเมียนมาร์เท่านั้น ในกรณีของบริษัทที่จัดตั้งโดยกฎหมายการลงทุนจากต่างชาติจะเสียภาษีรายได้นิติบุคคลเฉพาะเงินรายได้ที่มีแหล่งเงินได้มาจากประเทศเมียนมาร์เท่านั้น
ภาษีการค้า (Commercial Tax)
ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจและประเภทของรายได้ รายละเอียดดังตาราง
ตารางที่ 2 อัตราภาษีการค้า
ประเภทธุรกิจอัตราภาษีประเภทธุรกิจ
(ร้อยละของรายได้/ค่าบริการ)
สินค้าจำเป็นขั้นพื้นฐานได้รับการยกเว้น
สินค้าทั่วไปที่ผลิตในประเทศ0.5 – 2.5
สินค้าฟุ่มเฟือยเช่นบุหรี่เหล้าหยกอัญมณีน้ำมันเชื้อเพลิงไข่มุกเป็นต้น3 – 20
ธุรกิจบริการต่างๆเช่นรถไฟโรงแรมและธุรกิจการค้าเป็นต้น5
ธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก5
รายได้จากค่าโดยสารในการประกอบการขนส่งผู้โดยสาร8
รายได้จากธุรกิจโรงแรมภัตตาคารการให้เช่าห้องพัก10
รายได้จากธุรกิจบันเทิง15
รายได้จากธุรกิจการจัดฉายภาพยนตร์30
ผู้ใช้บริการโรงแรมและภัตตาคารในเมียนมาร์
ต้องเสียภาษีผู้ใช้บริการที่หักไว้สำหรับจ่ายรัฐบาล
10
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, 2557
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax)
ตารางที่ 3 อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ประเภทอัตราภาษี (ร้อยละ)
ชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในเมียนมาร์ (Resident Foreigner) คือชาวต่างชาติที่เข้าไปทำงานในเมียนมาร์ตั้งแต่ 183 วันขึ้นไปเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราคงที่
บุคคลที่ทำงานกับบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากMIC10 ของเงินได้
บุคคลที่ทำงานกับบริษัทที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก MIC15 ของเงินได้
ชาวต่างชาติที่มิได้มีถิ่นพำนักในเมียนมาร์ (Non-resident Foreigner) คือชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในเมียนมาร์ไม่ถึง 183 วัน35 ของเงินได้
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, 2557
สำหรับภาษีเงินได้สำหรับบุคคลผู้มีเงินได้สามารถหักค่าลดหย่อนได้ 20% ของเงินได้แต่สูงสุดไม่เกิน 6,000 จ๊าตคู่สมรสหักลดหย่อนได้ 2,500 จ๊าต ส่วนบุตรที่อายุไม่เกิน 18 ปีและยังไม่ได้สมรสหักลดหย่อนได้ 500-1,000 จ๊าต (ขึ้นอยู่กับอายุของบุตร)
ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax)
อัตราขึ้นอยู่กับการจดทะเบียนในหรือนอกประเทศ
ตารางที่ 4 อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล
ประเภทอัตราภาษี (ร้อยละของเงินได้สุทธิ)
บริษัทต่างชาติที่จดทะเบียนในเมียนมาร์ (Resident Foreigner)30
บริษัทต่างชาติที่ไม่ได้จดทะเบียนในเมียนมาร์ (Non-resident Foreigner) แต่ได้เข้าไปเปิดสาขาในเมียนมาร์ เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ สำหรับกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก MIC จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปีนับจากปีแรกที่เริ่มดำเนินการและอาจขอขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีได้เป็นกรณีๆ ไปขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ MIC35
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, 2557
ภาษีนำเข้า
ตารางที่ 5 อัตราภาษีนำเข้า
ประเภทอัตราภาษี 
(ร้อยละของมูลค่าสินค้านำเข้า)
สินค้าทุกประเภท (ยกเว้นสินค้าคอมพิวเตอร์ปุ๋ยและเวชภัณฑ์ฯลฯ)25
สิ่งทอ5 – 300
เครื่องจักรและอุปกรณ์15 – 200
อุปกรณ์ในการขนส่ง5 – 300
สินค้าอุปโภคบริโภค50 – 200
สัตว์ที่มีชีวิตพืชและต้นไม้ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า
ขนสัตว์/เครื่องบิน0.5
แก้วผลิตภัณฑ์จากแก้ว7.5
เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์/เครื่องยนต์ขนาดตั้งแต่ 3,000 CC.40
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, 2557
ภาษีส่งออก (Export Duty)
สำหรับผู้ที่จะทำการส่งออกจะเป็นรัฐบาลเมียนมาร์และตัวแทนหรือองค์กรของรัฐบาลเมียนมาร์เท่านั้น สำหรับภาษีส่งออกที่เรียกเก็บจากสินค้าตามรายการ มี 5 ประเภท
ตารางที่ 6 อัตราภาษีส่งออก
ประเภทอัตราภาษี
แป้ง/แป้งข้าวเจ้า10 จ๊าตต่อเมตริกตัน
รำข้าว10 จ๊าตต่อเมตริกตัน
กากน้ำมันพืช5% ของมูลค่าส่งออก
ธัญพืช5% ของมูลค่าส่งออก
ไม้ไผ่/หนังสัตว์5% และ 10% ของมูลค่าส่งออก
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, 2557
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ชาวต่างชาติที่ทำธุรกิจในเมียนมาร์จะเสียภาษีดังกล่าวโดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ผู้ที่พำนักในเมียนมาร์กับผู้ที่มิได้พำนักในเมียนมาร์ โดยจะเสียในอัตราดังนี้
  • ภาษีดอกเบี้ยผู้พำนักเสีย 15% ไม่พำนักเสีย 20%
  • ภาษีจากการได้รับใบอนุญาตต่างๆผู้พำนักเสีย 15% ผู้ไม่พำนักเสีย 20%
  • ค่าธรรมเนียมการทำสัญญากับรัฐบาลผู้พำนักเสีย 4% ผู้ไม่พำนักเสีย 3.5%
  • กรณีที่เงินปันผลกำไรของกิจการสาขาและส่วนแบ่งกำไรที่ได้รับการหักภาษีแล้วไม่ต้องชำระภาษีณที่จ่ายอีก
เงินประกันสังคม
สหภาพเมียนมาร์มีการกำหนดให้นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปจะต้องให้สิทธิประโยชน์ประกันสังคมให้กับพนักงานเช่นการประกันผลประโยชน์ทั่วไปและประกันการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานโดยพนักงานจะต้องมีส่วนร่วมในอัตราร้อยละ 1.5 ของเงินเดือนหรือค่าจ้างนายจ้างอัตราร้อยละ 2.5 ของเงินเดือนพนักงานหรือค่าจ้าง
หลักเกณฑ์การจัดการด้านรายได้และการนำเงินรายได้กลับประเทศ
โดยภายใต้กฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Investment Law) ของเมียนมาร์ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมและดูแลของคณะกรรมาธิการส่งเสริมการลงทุนของเมียนมาร์ (Myanmar Investment Commission: MIC) มีหลักประกันและการคุ้มครองดังนี้
  • อนุญาตให้นำเงินตราต่างประเทศเข้า-ออกได้
  • อนุญาตให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในเมียนมาร์ส่งเงินกลับได้หลังจากหักภาษีเงินได้และค่าใช้จ่ายอื่นๆเรียบร้อยแล้ว
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, 2557

การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ต่างชาติร่วมลงทุน
ปัจจุบันสหภาพเมียนมาร์ได้มีเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zones: SEZs) เพื่อเร่งการสร้างงานและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในปี 2558 โดยมี 3 แห่ง คือ
  1. เขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา (Thilawa SEZ)
  2. เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei SEZ)
  3. เขตเศรษฐกิจเจ้าผิว (Kyaukphyu SEZ)
โดยรวมแล้วเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวานับว่ากำลังเป็นที่สนใจและเป็นที่จับตามองจากนักลงทุนต่างชาติในฐานะแหล่งรองรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (Mega Projects) อีกทั้งยังเป็นโครงการที่มีการดำเนินการคืบหน้ามากที่สุดเทียบกับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายที่ประสบปัญหาความล่าช้าของโครงการและปัญหาด้านเงินทุนจนทางการเมียนมาร์ต้องปรับแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจทวายใหม่ ส่วนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าผิวซึ่งมุ่งเน้นการเชื่อมโยงกับจีนยังไม่มีความชัดเจนนักด้านหลักเกณฑ์การลงทุน
ภาพรวมของเขตเศรษฐกิจพิเศษ “ติละวา”
เขตเศรษฐกิจพิเศษติละวาครอบคลุมพื้นที่ 2,400 เฮกตาร์ (ประมาณ 1.5 หมื่นไร่) ตั้งอยู่ระหว่างเขต Thanlyinและเขต Kyauktan ใกล้กับเมืองย่างกุ้ง ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของเมียนมาร์และเป็นเมืองหลวงเก่า โดยอยู่ห่างจากเมืองย่างกุ้งไปทางใต้เพียง 25 กิโลเมตร จึงเหมาะกับการเป็นฐานการผลิตใหม่ เพราะใกล้พื้นที่เศรษฐกิจหลัก รวมทั้งเป็นศูนย์กระจายสินค้าและศูนย์กลางการขนส่ง ทั้งนี้ การดำเนินการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวามีขึ้นหลังจากรัฐบาลเมียนมาร์และรัฐบาลญี่ปุ่นได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจที่จะร่วมกันพัฒนาโครงการเมื่อเดือนธันวาคม 2555โดยเป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐบาลเมียนมาร์ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 51 และบริษัทเอกชนญี่ปุ่น 3 แห่ง คือ บริษัท Mitsubishi Corp. บริษัท Marubeni Corp. และบริษัท Sumitomo Corp. ซึ่งถือหุ้นรวมกันในส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 49 นับเป็นโครงการนำร่องขนาดใหญ่ด้านการลงทุนของญี่ปุ่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกลับเข้ามามีบทบาทอีกครั้งในเมียนมาร์ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นให้การสนับสนุนการพัฒนาโครงการนี้อย่างเต็มที่ทั้งการสนับสนุนด้านการเงินและการจัดหาแหล่งเงินทุน ในการนี้ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมทุนจัดตั้งบริษัท Myanmar Japan Thilawa Development Ltd. (MJTD) เพื่อเข้ามาบริหารจัดการโครงการ
ภาพรวมของเขตเศรษฐกิจพิเศษ “ทวาย”
การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายนิคมอุตสาหกรรมและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ จะส่งผลให้ทวายก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการค้าของภูมิภาค ทั้งนี้เพื่อตอบสนองต่อการค้าที่เจริญก้าวหน้าและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีนตอนใต้ และเพื่อตอบสนองความต้องการอย่างต่อเนื่องในการขนส่งทางทะเลในมหาสมุทรอินเดียและทะเลอันดามัน รัฐบาลไทยและเมียนมาร์ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) โครงการที่ลงทุนในทวายนั้น เป็นการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรม
ท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายตั้งอยู่ห่างจากจังหวัดทวายประมาณ 28 กม. ซึ่งอยู่ในตอนเหนือของอ่าวเมืองมะกัน มีการลงทุนสร้างท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี ถนนเชื่อมโยงจากทวายไปยังประเทศไทย และด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลเมียนมาร์ในการเชื่อมโยงทางรถไฟจากทวาย-ย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์-มูเซ เชื่อมต่อไปยังทางรถไฟจีนที่คุนหมิง ทำให้โครงการนี้ได้รับการเสนอให้เป็นจุดศูนย์กลางการขนส่งที่สำคัญของภูมิภาค
ประโยชน์สำคัญของท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายนั้นคือ ทำหน้าที่เป็นประตูสู่การค้าใหม่ให้เส้นทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกให้กับอินเดีย จีน ตะวันออกกลาง ยุโรปและแอฟริกา ซึ่งจะช่วยลดการจราจรที่คับคั่งในช่องแคบมะละกา ลดเวลาการขนส่งและค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และเป็นสถานที่ที่ได้เปรียบในการค้าเนื่องจากตรงเข้าถึงทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดียในการขนส่งสินค้า นอกจากนี้ในนิคมอุตสาหกรรมยังช่วยสร้างตลาดใหม่สำหรับการลงทุนของต่างประเทศจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นและจากการคมนาคมเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาค ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า และการพัฒนาระหว่างประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
ภาพรวมของเขตเศรษฐกิจพิเศษ “เจ้าผิว”
เมียนมาร์จะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone – SEZ) แห่งที่ 3 ที่เมืองเจ้าผิวรัฐยะไข่ ครอบคลุมพื้นที่ 75 ตร.กม. โดยบริษัท CPG Consultancy Ltd. ของสิงคโปร์ เป็นผู้พัฒนาแผนหลักและที่ปรึกษาของรัฐบาลเมียนมาในการคัดเลือกและเชิญบริษัทต่างชาติเข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2568 โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า จีนจะเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจเจ้าผิวอย่างเต็มที่ แม้ว่าจีนจะมีพื้นที่กว้างใหญ่แค่ไหนแต่ก็มีจุดอ่อนจากการมีทางออกทะเลเพียงด้านเดียว คือ มหาสมุทรแปซิฟิก
ดังนั้น ในการขนส่งค้าขายกับคู่ค้าหลักอันดับหนึ่งอย่างสหภาพยุโรป จีนก็ต้องเดินเรือทะเลไปอ้อมช่องแคบมะละการวมไปถึงการขนส่งพลังงานสำคัญจากตะวันออกกลางก็ต้องไปอ้อมช่องแคบมะละกาอีกเช่นกัน ทำให้ช่องแคบมะละกานี้เป็นดั่ง “ชีพจรทางทะเล” ของจีน การพึ่งพาและพึ่งพิงช่องแคบนี้มากเกินไปย่อมเป็นความเสี่ยงรัฐบาลจีนจึงได้พยายามหาทางออกสู่ทะเลอีกด้าน และในที่สุดก็ตัดสินใจเลือกที่จะใช้เส้นทางผ่านกลางประเทศเมียนมาร์เพื่อออกสู่มหาสมุทรอินเดีย ดังนั้น จีนได้เข้าไปทุ่มเทงบประมาณลงทุนและช่วยเหลือเมียนมาร์ในหลากหลายโครงการอย่างครบวงจร รวมทั้งโครงการขนาดใหญ่ที่พัฒนาเมืองชายฝั่งของเมียนมาร์จนทำให้เมียนมาร์กลายเป็นประเทศในอาเซียนที่รองรับเงินลงทุนจากจีนมากติดอันดับ 2 เป็นรองจากสิงคโปร์
การเชื่อมโยงจากชายแดนจีนไปยังเมืองเจียวเพียว เริ่มจากเมืองรุ่ยลี่ (Ruili) ของจีนในมณฑลยูนนานข้ามไปยังชายแดนเมียนมาร์ที่เมืองมูเซ (Muse) ต่อไปที่เมืองลาโช (Lashio) เชื่อมผ่านเมืองมัณฑะเลย์ (Mandalay) ไปจนถึงยังเมืองเจียวเพียว ด้วยระยะทางประมาณ 800 – 1,000 กิโลเมตร ซึ่งโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของจีนในเมืองเจียวเพียวก็ล้วนแล้วแต่สำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ และรัฐบาลจีนได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับฝ่ายเมียนมาร์มาตั้งแต่ปี 2009 นำทัพโดยท่านสี จิ้นผิง ผู้นำจีนรุ่นที่ 5 (ในขณะดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของจีน)
โดยโครงการสำคัญของจีนในเมียนมาร์เริ่มจาก (1) โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในเมืองเจียวเพียวซึ่งมีขนาดใหญ่และมีเงินลงทุนสูงกว่า “โครงการทวาย” รัฐบาลไทยพยายามผลักดัน ภายใต้นิคมฯเจียวเพียวมีการจัดแบ่งเป็นโซนต่างๆ เช่น โซนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีโซนอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก ตลอดจนการสร้างสนามบินโดยเฉพาะท่าเรือน้ำลึกเจียวเพียว จะมีท่าเรือรองรับสินค้าคอนเทนเนอร์และท่าเรือน้ำมันพร้อมคลังเก็บน้ำมันดิบ ซึ่งกลุ่ม China National Petroleum Corporation (CNPC) ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ด้านพลังงานของจีนได้เข้าไปก่อสร้าง Tanker Port ซึ่งมีร่องน้ำลึกมากจนสามารถรองรับเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ถึง 3 แสนตัน
ที่มา: กรมส่งเสริมการส่งออก, 2555

โอกาสและลู่ทางในการลงทุน

โอกาสการลงทุนในเมียนมาร์
  • เมียนมาร์เป็นตลาดใหญ่ในการรองรับสินค้าไทย
  • มีนโยบายส่งเสริมการลงทุน
  • สภาพภูมิประเทศและอากาศคล้ายประเทศไทยดังนั้นสินค้าไทยจึงเข้ากับสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนเมียนมาร์เช่น เสื้อผ้า อาหาร และของใช้อุปโภคต่างๆ
  • ค่าจ้างแรงงานต่ำ
  • มีการแข่งขันจากประเทศตะวันตกระดับต่ำทั้งนี้เนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองจึงเป็นโอกาสที่ดีของไทยในการยึดครองตลาดและมีคู่แข่งน้อยคู่แข่งสำคัญคือ จีน มาเลเซีย เป็นต้น
  • ประเทศไทยได้เปรียบด้านต้นทุนการขนส่งจากไทยไปเมียนมาร์ซึ่งมีต้นทุนขนส่งต่ำกว่าประเทศอื่นๆ
ข้อจำกัดในการลงทุน
  • การลงทุนจากต่างประเทศในเมียนมาร์ยังอยู่ในระดับต่ำ จึงทำให้ขาดความสัมพันธ์หรือพึ่งพากันระหว่างอุตสาหกรรมแต่ละสาขา
  • ขาดข้อมูลจากภาครัฐเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจการลงทุน
  • ประชากรมีจำนวนมากแต่กำลังการซื้อต่ำ
  • สินค้าที่ผลิตในเมียนมาร์ ถูกกีดกันทางการค้าเมื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ
ข้อเสนอแนะ
  • การลงทุนในเมียนมาร์จำเป็นต้องมีเครือข่ายและความสัมพันธ์ทุกระดับชั้น
  • ไม่เป็นการลงทุนที่ฉาบฉวย ควรเป็นการลงทุนระยะยาว และจะต้องสร้างโอกาสและกระจายรายได้กลับคืนเมียนมาร์ด้วย
  • พิจารณาสังคม ประชาชน และวัฒนธรรม ในเมืองนั้นๆ มีการร่วมมือหรือส่งเสริมต่อคนต่างชาติหรือนักลงทุนต่างชาติอย่างไร
  • พิจารณาเกี่ยวกับต้นทุนทางตรงและทางอ้อมอื่นๆ ได้แก่ ค่าแรง งานแฝง ค่าเบี้ยใบ้รายทางและภาษีท้องถิ่นอื่นๆ
  • พิจารณาต้นทุนโลจิสติกส์ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญโดยเฉพาะบางเมืองมีระบบผูกขาดผู้ให้บริการขนส่ง
ที่มา: กรมส่งเสริมการส่งออก, 2555

ต้นทุนการจัดตั้งธุรกิจ

กระทรวงต่างประเทศของเมียนมาร์ได้จัดทำค่าใช้จ่ายการทำธุรกิจในเมียนมาร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ที่สนใจที่จะลงทุนในเมียนมาร์ได้ทราบถึงค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องในการลงทุนทำธุรกิจ และสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปประเมินเพื่อการที่จะตัดสินใจลงทุนในเมียนมาร์ อีกทั้งยังสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้วางแผนตั้งงบประมาณหรือพัฒนากลยุทธ์ต่างๆอนึ่งมูลค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจที่ได้เสนอในครั้งนี้ ได้เก็บรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ที่น่าเชื่อถือได้ อย่างไรก็ตามข้อมูลเหล่านี้อาจผันแปรไปตามปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องหรือตามการเจรจาต่อรองของนักลงทุนเอง
ค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการลงทุนทำธุรกิจ
การเดินทางเข้าเมียนมาร์
บุคคลที่ประสงค์จะเดินทางเข้าประเทศเมียนมาร์สามารถขอวีซ่า (Visa) ได้ที่สถานทูตหรือสถานกงสุลของเมียนมาร์ในประเทศนั้นๆ โดยวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวจะพำนักอยู่ในเมียนมาร์ได้ 28 วัน วีซ่าสำหรับนักธุรกิจพำนักอยู่ในเมียนมาร์ได้ 28 วัน ส่วน Entry Visa จะพำนักอยู่ได้ 4 สัปดาห์ สำหรับผู้ที่ทำธุรกิจในเมียนมาร์สามารถขอวีซ่าแบบเข้าออกประเทศได้หลายครั้งโดยจะต้องยื่นเรื่องขอ Stay Permit ต่อทางการเมียนมาร์ซึ่งอาจอยู่ได้นานถึง 1 ปี โดยคณะกรรมการลงทุนฝ่ายต่างประเทศหรือกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้ออกให้ค่าธรรมเนียมในการเดินทางเข้าประเทศเมียนมาร์
ค่าภาษีสนามบิน
ไม่มี
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำการค้า (Permit to Trade)
เมื่อนักลงทุนต่างชาติที่ได้ยื่นเอกสารคำร้องขอลงทุนพร้อมกับรายละเอียดของโครงการ และ MIC ได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบและออกใบอนุญาตลงทุนให้จากนั้นผู้ลงทุนจะต้องนำใบอนุญาตไปขอ Permit to Trade จาก Companies Registration Office ภายใต้กระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจและวางแผนแห่งชาติ (Ministry of National Planning and Economic Deployment) ซึ่งค่าธรรมเนียมในการขอใบอนุญาตทำการค้า มีรายละเอียดดังตารางที่ 7
ตารางที่ 7 ค่าธรรมเนียมในการขอใบอนุญาตทำการค้า
หน่วย : จ๊าต
ค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียม
ค่าอากรแสตมป์25
ค่าธรรมเนียมการขอใบอนุญาตทำการค้า500 – 1,000
ที่มา : Myanmar Investment Commission (MIC) อ้างถึงใน กรมส่งเสริมการส่งออก, 2555
หมายเหตุ : ผู้ลงทุนต้องนำเงินมาเทียบเท่ากับ 50% ของเงินลงทุนที่คณะกรรมการ กำหนดเข้าเมียนมาร์ภายใน 30 วัน แต่อาจผ่อนผันได้ 1 ปี (หลังจากได้รับใบอนุญาตทำการค้า)
ค่าเช่าที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมและค่าเช่าอาคารสำนักงาน
ภายใต้กฎหมายการจดทะเบียนการถ่ายโอนอสังหาริมทรัพย์ (Transfer of Immovable Property Registration Law 1987) ของเมียนมาร์ นักลงทุนต่างชาติไม่สามารถเป็นเจ้าของที่ดินได้ แต่สามารถเช่าพื้นที่ดำเนินการระยะยาวได้จากรัฐบาลเมียนมาร์ (อาจเช่าได้นานถึง 30 ปี) เพื่อใช้ในการลงทุน ทั้งนี้จะมีการทบทวนค่าเช่าที่ดินทุก 5 ปี หลัง โดยระยะเวลาในการเช่าอาจยืดหยุ่นได้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาลเมียนมาร์เป็นสำคัญโดยมีรายละเอียดดังตารางที่ 8
ตารางที่ 8 อัตราค่าเช่าที่ดิน ค่าเช่าสำนักงานและอื่นๆ
หน่วย : ดอลลาร์สหรัฐ
ที่ดินอัตรา
(ดอลลาร์สหรัฐ : ตารางเมตร)
(1) ราคาซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติ
และบริษัทต่างชาติซื้อที่ดิน
(2) ราคาเช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม
– เขตอุตสาหกรรมท้องถิ่น (กระทรวงแรงงาน)0.25
– เขตอุตสาหกรรม Mingaladon (ร่วมทุนระหว่างบริษัทญี่ปุ่นและกระทรวงแรงงาน) ค่าเช่าสำนักงาน0.33
– International Business Center (Pyay Road)10
– Sakura Tower (กลางเมือง)15
– Trades Hotel18
(3) ค่าเช่าโรงงาน
– เขตกรุงย่างกุ้ง0.6 – 14
– นอกกรุงย่างกุ้ง0.2 – 2.3
ที่มา : โครงการส่งเสริมการลงทุนในกัมพูชาและเมียนมาร์ สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาฯมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อ้างถึงใน กรมส่งเสริมการส่งออก, 2555
ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค
ค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณูปโภคคือ ค่าใช้จ่ายทางด้านไฟฟ้า ค่าน้ำ โทรคมนาคม ค่าขนส่ง ค่าแก๊ส และค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ค่าไฟฟ้าและค่าน้ำ ขึ้นอยู่กับประเภทการใช้ โดยมีรายละเอียดดังตารางที่ 9
ตารางที่ 9 อัตราค่าไฟฟ้าและน้ำในเมียนมาร์
หน่วย : ดอลลาร์สหรัฐ
ประเภทการใช้ราคา
(1) ค่าไฟฟ้า (อัตราต่อกิโลวัตต์)
– ค่าไฟฟ้าสำหรับการประกอบธุรกิจ0.049 – 0.056
– ค่าไฟฟ้าทั่วไป0.08
(2) ค่าน้ำ (อัตราต่อลูกบาศก์เมตร)
– ค่าน้ำสำหรับการประกอบธุรกิจ0.88
– ค่าน้ำทั่วไป0.44
ที่มา : โครงการส่งเสริมการลงทุนในกัมพูชาและเมียนมาร์ สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อ้างถึงใน กรมส่งเสริมการส่งออก, 2555
ใบอนุญาตการนำเข้าและสินค้าที่ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการนำเข้า (Import License Fee) กระทรวงพาณิชย์เมียนมาร์จะคิดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในการนำเข้าในอัตราส่วนของราคานำเข้า
สินค้านำเข้าที่ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมการนำเข้า มีดังนี้
สินค้านำเข้าโดยองค์กรที่ดำเนินธุรกิจในเมียนมาร์ภายใต้กฎหมายการลงทุนประเทศเมียนมาร์ มีวัตถุประสงค์การใช้เพื่อธุรกิจ ได้แก่
  • เครื่องจักร เครื่องมือ ส่วนประกอบของเครื่องจักร ชิ้นส่วนอะไหล่ และวัสดุที่ใช้ทางธุรกิจที่มีความจำเป็นต้องใช้สำหรับการก่อสร้าง โดยนำเข้ามาในฐานะทุนของต่างประเทศที่ระบุโดยคณะกรรมการลงทุนเมียนมาร์ (MIC)
  • วัตถุดิบและวัสดุที่ใช้สำหรับการบรรจุภัณฑ์ (สำหรับช่วง 3 ปีแรกเท่านั้น) ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์สำหรับใช้ร่วมในการก่อสร้างเพื่อการผลิตและส่งออกให้สมบูรณ์
สินค้าที่นำเข้าโดยหน่วยงานของรัฐ
  • สินค้าที่นำเข้าเพื่อวัตถุประสงค์ใช้ในราชการของรัฐ
  • สินค้าทุนที่นำเข้าภายใต้โครงการลงทุนประจำปี
  • รถยนต์ใหม่ใช้เพื่อธุรกิจที่นำเข้าโดยระบบฝากและขายในประเทศ เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ โดยผ่านหน่วยงาน Vehicle, Machinery and Equipment Trading Inspection and Agency Services Co., Ltd./Myanmar Motor Limited ให้กับหน่วยงานที่ดำเนินธุรกิจภายใต้การส่งเสริมการลงทุน นอกจากนี้ ยังมีสินค้าที่นำเข้าโดยบริษัทน้ำมันที่ดำเนินธุรกิจภายใต้ข้อตกลงร่วมกับ Myanmar Oil and Enterprise และสินค้าที่นำเข้าโดยคณะทูตานุทูต
  • ผลิตภัณฑ์ยาและวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตยาที่นำเข้าโดยหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของรัฐหรือภาคเอกชนที่จดทะเบียนเป็นผู้นำเข้า/ส่งออกเพื่อใช้ในการสนับสนุน และปรับปรุงการสาธารณสุขหรือสวัสดิการของประชาชนที่รับการรักษาทางการแพทย์
  • ปุ๋ยหรือเครื่องมือการเกษตรและยาฆ่าแมลงที่ใช้เพื่อการพัฒนาภาคการเกษตร ซึ่งนำเข้าโดยหน่วยงานวิสาหกิจของรัฐหรือภาคเอกชนที่จดทะเบียนเป็นผู้นำเข้า/ส่งออก
  • สินค้าผ่านแดน การนำเข้าสินค้าไปสู่ประเทศที่ 3 โดยใช้เมียนมาร์เป็นตัวกลางในการผ่านสินค้า ผู้ส่งออกจะต้องจ่ายค่าคอมมิสชั่น 5% ให้ผู้นำเข้าประเทศเมียนมาร์ และจ่าย 2.5% บวกเพิ่ม 5% ให้กรมศุลกากรเมียนมาร์สินค้าผ่านแดนส่วนใหญ่ ได้แก่ ยานพาหนะและอุปกรณ์
ที่มา: กรมส่งเสริมการส่งออก, 2555

กฎระเบียบทางการเงิน

ปัจจุบันระบบสถาบันทางการเงินของสหภาพเมียนมาร์มีการให้บริการทางการเงินเต็มรูปแบบให้กับนักลงทุนทั้งภายในและภายนอกประเทศเช่น การให้บริการทางการเงินและการประกันภัย เป็นต้น
ธนาคารในประเทศเมียนมาร์
ธนาคารกลาง (The Central Bank of Myanmar) ธนาคารเฉพาะด้านของรัฐ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่
  1. The Myanmar Economic Bank ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านสินเชื่อแก่รัฐและเอกชนในเมียนมาร์ พร้อมทั้งบริการรับฝากผ่านสาขา 259 แห่งทั่วประเทศ โดยมี Myanmar Small Loans Enterprise ซึ่งเป็นสาขาของ Myanmar Economic Bank ดูแลสถานธนานุเคราะห์
  2. The Myanmar Foreign Trade Bank ทำหน้าที่ให้บริการด้านการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และธุรกิจการธนาคารระหว่างประเทศการนำเข้า-ส่งออกของเมียนมาร์ ธนาคารนี้ไม่รับฝากเงินเพื่อสะสมทรัพย์มีแต่บัญชีเดินสะพัด และให้กู้เป็นเงินตราต่างประเทศภายใต้การอนุมัติของรัฐในรูปตั๋วสัญญาใช้เงิน
  3. The Myanmar Agriculture and Rural Development Bank ทำหน้าที่ให้บริการด้านการเงินแก่ภาคเกษตรกรรมภายในประเทศ เช่น การให้เงินกู้แก่เกษตรกรโดยผ่านธนาคารในท้องถิ่น (Village Bank) ให้เงินกู้สหกรณ์ และธุรกิจที่ประกอบกิจการทางด้านการเกษตรและปศุสัตว์
  4. The Myanmar Investment and Commercial Bank ทำหน้าที่ให้บริการด้านสินเชื่อแก่หน่วยธุรกิจที่ลงทุนในเมียนมาร์รับฝากเงินระยะสั้น และระยะยาวโดยให้ดอกเบี้ยตอบแทนการจัดหาเงินกู้เพื่ออสังหาริมทรัพย์และการลงทุน
ธนาคารพาณิชย์เอกชน
  1. Asia Green Development Bank Ltd
  2. Asia-Yangon Bank Ltd
  3. Ayeyarwaddy Bank Ltd
  4. Construction and Housing Development Bank
  5. Co-operative Bank Ltd
  6. First Private Bank Ltd
  7. Global Treasure Bank
    (formerly known as Myanmar Livestock & Fisheries Ltd)
  8. Innwa Bank Ltd
  9. Kanbawza Bank Ltd
  10. Myanma Apex Bank Ltd
  11. Myanmar Citizens Bank Ltd
  12. Myanmar Micro Finance Bank
  13. Myanmar Oriental Bank Ltd
  14. Myawaddy Bank Ltd
  15. Nay Pyi Taw Development Bank
  16. SibinTharyar Yay Bank Ltd
  17. Small & Medium Industrial Development Bank Ltd
    (formerly known as Myanmar Industrial Development Bank)
  18. Tun Foundation Bank Ltd
  19. United Amara Bank Ltd
  20. Yadanabon Bank Ltd
  21. Yoma Bank Ltd
  22. Yangon City Bank Ltd
บริษัททางด้านการเงิน
  1. Myanmar Orient Leasing Company Ltd.
  2. Myat Nan Yone Company Ltd.
  3. National Finance Company Ltd.
  4. Ryuji Finance Company Ltd.
ตัวแทนสาขาธนาคารต่างชาติ
  1. AB Bank Ltd.
  2. Bangkok Bank Public Company Ltd.
  3. Bank for Investment and Development of Vietnam
  4. Brunei Investment Bank (BIB)
  5. CIMB Bank Berhad
  6. DBS Bank Ltd.
  7. First Commercial Bank, Singapore Branch
  8. First Overseas Bank Ltd.
  9. Industrial and Commercial Bank of China Ltd.
  10. Malayan Banking Berhad (MAYBANK), Malaysia
  11. Mizuho Corporate Bank Ltd.
  12. National Bank Ltd.
  13. Overseas-Chinese Banking Corporation Ltd.
  14. Siam Commercial Bank Public Company Ltd.
  15. Sumitomo Mitsui Banking Corporation
  16. The Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ, Ltd.
  17. The HongKong and Shanghai Banking Corporation
  18. United Overseas Bank Ltd.
  19. Woori Bank Ltd.
ที่มา : Central Bank of Myanmar อ้างอิงใน กรมส่งเสริมการส่งออก,2555
อัตราแลกเปลี่ยน สกุลเงินจ๊าด (ณ วันที่ 2 มกราคม 2014)
USD 972
SGD 770
EUR 1,340
THB 30
ระบบการเงิน ปีงบประมาณ 1 พฤษภาคม – 30 เมษายน
เงินตราที่ใช้จ่ายหมุนเวียนในเมียนมาร์มีอยู่ 2 ประเภท คือ
เงินจ๊าต (Kyat)
การใช้จ่ายภายในประเทศต้องใช้เงินสดเท่านั้นแต่มีบางแห่งรับบัตรเครดิตดังนั้นผู้เดินทางมายังเมียนมาร์เตรียมเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อมาแลกเปลี่ยนเป็นเงินจ๊าต
ข้อพึงระวัง
เงินดอลลาร์สหรัฐที่นำมาแลกต้องมีความสมบูรณ์ไม่มีรอยพับเพราะมักจะถูกปฏิเสธไม่รับเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่มีรอยพับหรือรอยยับอย่างไรก็ตาม ในระบบการเงินของประเทศได้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนไว้กับระบบธนาคารไว้ที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐมีค่าเท่ากับ 5-7 จ๊าตแต่ในความเป็นจริงจะมีการใช้อัตราแลกเปลี่ยนจากร้านค้าทั่วไปในอัตรา 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 930-1,033 จ๊าตทั้งนี้อัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวมีการปรับเปลี่ยนค่าอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางเมียนมาร์ได้มีนโยบายลอยตัวค่าเงินจ๊าตแบบมีการบริหารจัดการ (Managed Float) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งสำคัญของเมียนมาร์ (กรมส่งเสริมการส่งออก, 2555)
แหล่งเงินทุน
ปัจจุบันสหภาพเมียนมาร์อยู่ในระหว่างพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินซึ่งล่าสุดธนาคารกลางเมียนมาร์กำลังเร่งพัฒนาเครือข่ายATM ในประเทศให้พร้อมบริการในเวลาอันใกล้นี้และอยู่ระหว่างเจรจากับ Master Card และ Visa เพื่อเตรียมพัฒนาเครือข่ายธุรกรรมการเงินอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างประเทศ เพื่อรองรับความต้องการใช้ที่จะขยายตัวในอนาคตอันใกล้ นอกจากนี้ เมียนมาร์ยังมีความร่วมมือกับญี่ปุ่นคือ Tokyo Stock Exchange และ Daiwa Securities Group เพื่อเตรียมจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์เมียนมาร์ภายในปี 2558 ซึ่งจะเป็นแหล่งทางเลือกของการจัดหาเงินทุนสำหรับธุรกิจและนักลงทุนทั้งจากในและต่างประเทศ
ธนาคารไทยที่ตั้งอยู่ที่ประเทศเมียนมาร์
  • ธนาคารกสิกรไทย จำกัด มหาชน
  • ธนาคารไทยพานิชย์ จำกัด มหาชน
  • ธนาคารกรุงไทยจำกัด มหาชน
  • ธนาคารกรุงเทพ จำกัด มหาชน
โดยธนาคารกรุงเทพเป็นธนาคารของไทยแห่งเดียวเท่านั้นที่ธนาคารกลางเมียนมาร์ได้ให้ใบอนุญาตประกอบกิจการสาขาธนาคาร แม้ว่าเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2557 ที่ผ่านมาทางธนาคารกลางเมียนมาร์ได้ให้ใบอนุญาตประกอบกิจการสาขาธนาคารต่างประเทศแต่ยังเป็นใบอนุญาตโดยหลักการ (Preliminary) ทำให้ในขณะนี้ธนาคารยังไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ในทันทีเนื่องจากทางการเมียนมาร์จะต้องเข้ามาทำการตรวจสอบการเตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการอีกครั้งทั้งทางด้านสถานที่บุคลากร ระบบการทำงานรวมถึงเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ที่จะใช้ในการดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ตามใบอนุญาตที่ได้รับมาก่อนที่จะมีการอนุมัติเป็นใบอนุญาตฉบับจริงตามมาอีกครั้ง ทั้งนี้ในปัจจุบันธนาคารอยู่ระหว่างตกแต่งสำนักงานที่จะใช้เป็นที่ทำการแห่งใหม่แทนสำนักงานผู้แทนเดิม (Representative Office) ที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณโรงแรมชาเทรียม รอยัลเลคย่างกุ้ง กรุงย่างกุ้งโดยธนาคารคาดว่าสำนักงานสาขาจะเปิดทำการได้ราวต้นปี 2558
การส่งเงินทุน/กำไรกลับประเทศ
ภายใต้กฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Investment Law) ของสหภาพเมียนมาร์ ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมและดูแลของคณะกรรมาธิการส่งเสริมการลงทุนของเมียนมาร์ (Myanmar Investment Commission: MIC) มีหลักประกันและการคุ้มครองดังนี้
  • อนุญาตให้นำเงินตราต่างประเทศเข้า – ออกได้
  • อนุญาตให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในเมียนมาร์ส่งเงินกลับได้หลังจากหักภาษีเงินได้และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เรียบร้อยแล้ว
  • นักลงทุนต่างชาติสามารถส่งเงินปันผลออกนอกเมียนมาร์ได้ทุกปีจากรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ภาษี และสวัสดิการของพนักงาน เช่น โบนัส และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และจ่ายเงินสมทบในส่วนของนายจ้างเข้ากองทุนประกันสังคมครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว นอกจากนี้ ยังต้องมีการกันส่วนกำไรไว้ในกองทุนในการพัฒนาบริษัทด้วยเงินที่เหลือจากการหักค่าใช้จ่ายเหล่านี้สามารถส่งออกนอกประเทศได้โดยการขออนุมัติจาก MIC และ Foreign Exchange Management Board (FEMB) ซึ่งเป็นหน่วยงานของธนาคารกลางเมียนมาร์
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, 2557

การทำงานของแรงงานต่างชาติ

กฎหมายแรงงานและอัตราค่าแรง
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานชาวเมียนมาร์ได้แก่พระราชบัญญัติการจ้างงานปี 2502 (the Employment Registration Act 1959) และพระราชบัญญัติประกันสังคมปี 2497 (the Social Security Act 1954) สรุปได้ดังนี้
ชั่วโมงการทำงาน
  • โดยทั่วไป 8 ชั่วโมงต่อวัน
  • บริษัท/ศูนย์การค้า/โรงงาน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
  • อุตสาหกรรมเหมืองแร่และขุดเจาะน้ำมัน 44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
  • การทำเหมืองแร่ในอุโมงค์ใต้ดิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
  • เวลาทำงานราชการ 9.30-16.30 น. จันทร์-ศุกร์
วันลาพักร้อน/ต่อปี (ได้รับค่าจ้าง)
  • 6 วันต่อปี (สำหรับพนักงาน)
  • 30 วันต่อปี (สำหรับผู้บริหารระดับสูง)
  • 20 วันต่อปี (สำหรับผู้บริหารระดับกลาง)
  • 10 วันต่อปี (สำหรับผู้บริหารระดับต้น)
วันหยุดราชการ (ได้รับค่าจ้าง)
21 วัน/ปี
วันหยุดลาคลอด (ได้รับค่าจ้าง)
  • ก่อนคลอดลาพักได้ 45 วัน
  • หลังคลอดลาพักได้ 45 วัน
ตารางที่ 10 พระราชบัญญัติประกันสังคม ปี 2497 (The Social Security Act 1954)
พระราชบัญญัติระเบียบการ
ค่าจ้างพนักงานโรงงานขั้นต่ำ 2,000 – 3,000 จ๊าตต่อเดือน (ขึ้นอยู่กับความชำนาญ)
บริษัทเอกชนที่มีพนักงานตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปรวมจ่ายค่าประกันสังคมจากเงินเดือนประจำร้อยละ 2 ให้แก่กองทุนประกันสังคม
สิทธิประโยชน์– ได้รับการตรวจสุขภาพและยารักษาโรคฟรี
– เงินสงเคราะห์ค่ารักษาพยาบาล
– เงินสงเคราะห์การคลอดบุตร
– เงินช่วยเหลืองานฌาปนกิจ
– เงินสงเคราะห์ผู้พิการชั่วคราวและตลอดชีพ
– เงินบำนาญ
หมายเหตุ : สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานในสหภาพเมียนมาร์สามารถสืบค้นเพิ่มเติมได้จาก Ministry of Labor, Employment and Social Security อ้างถึงใน กรมส่งเสริมการส่งออก, 2555

การเป็นเจ้าของที่ดินและอาคาร

ระเบียบว่าการได้มาซึ่งที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ชาวต่างชาติไม่สามารถเป็นเจ้าของที่ดินของสหภาพเมียนมาร์ได้แต่สามารถเช่าได้ในระยะเวลาถึง 30 ปี หรือมากกว่า หากได้รับการอนุมัติจาก MIC และสัญญาเช่าสามารถขยายได้ถ้าเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างนักลงทุนและรัฐ
ข้อจำกัด : ตามกฎหมายเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ของสหภาพเมียนมาร์ปี 2530 (The Transfer of Immovable Property Restriction Act 1987) ชาวต่างชาติหรือบริษัทต่างประเทศไม่สามารถเช่าอสังหาริมทรัพย์ใดๆ เช่นที่ดินจากภาคเอกชนมากกว่า 1 ปี
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, 2557

ข้อมูลอื่นๆ ที่ควรทราบ

ระบบการชำระเงิน

ระบบการชำระเงินของประเทศเมียนมาร์มีความแตกต่างจากประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยบ้างเล็กน้อย ทั้งนี้ ระบบการชำระเงินสามารถอธิบายในรายละเอียดได้ 2 แบบ คือ
1. รูปแบบการเปิด (Letter of Credit)
รูปแบบนี้เป็นระบบการชำระเงินที่เป็นที่นิยมในระหว่างผู้ประกอบธุรกิจต่างชาติกับนักธุรกิจชาวเมียนมาร์ กล่าวคือการเปิด letter of credit จากธนาคารในประเทศเมียนมาร์และจากธนาคารในประเทศผู้ทำธุรกิจ อย่างไรก็ตาม การเปิด L/C ดังกล่าว ทางรัฐบาลประเทศเมียนมาร์มีการจำกัดให้มีการเปิดได้เฉพาะธนาคารที่รัฐบาลเมียนมาร์เป็นผู้กำหนดเท่านั้น กล่าวคือ ธนาคาร Myanmar-Investment and Commercial-Bank และธนาคาร Myanmar Foreign Trade Bank โดยธนาคารเหล่านี้มีรัฐบาลเป็นเจ้าของนั่นเอง ซึ่งในปัจจุบันทางการเมียนมาร์ไม่อนุญาตให้เปิดสาขาของธนาคารต่างชาติเพื่อดำเนินธุรกรรมการเงินภายในประเทศ โดยอนุญาตให้ดำเนินงานด้านการประสานงานได้เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการตรวจสอบการเคลื่อนย้ายเงินตราต่างประเทศออกนอกประเทศโดยมาตรการนี้เกี่ยวเนื่องมาจากกฎระเบียบของนโยบายนำเข้าเมื่อมีการส่งออก
2. ระบบการชำระเงินแบบใช้สินเชื่อ
กล่าวคือ นักธุรกิจที่ทำธุรกิจกับชาวเมียนมาร์ จะยอมให้เครดิตกับนักธุรกิจชาวเมียนมาร์ก่อนเป็นระยะเวลานาน เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ทั้งนี้เนื่องจากนักธุรกิจชาวเมียนมาร์ยังขาดสภาพคล่องเกี่ยวกับเงินหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้นควรผ่อนผันการชำระเงินให้กับนักธุรกิจชาวเมียนมาร์ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการทำการค้ากันต่อไป
ที่มา: กรมส่งเสริมการส่งออก, 2555

ข้อพิพาทและบทลงโทษ

สหภาพเมียนมาร์ได้ลงนามเป็นภาคีสมาชิกของ New York Convention on the Recognition of Enforcement of Foreign Arbitral Awards 1958 ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2556 แต่ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงการอนุวัติการใช้บังคับโดยรัฐสภาของเมียนมาร์เช่นนี้ หากมีการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการทางอนุญาโตตุลาการขึ้นในช่วงก่อนการบังคับใช้ของกฎหมายฉบับนี้ จึงยังคงต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการปี 2487 ไปก่อน
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, 2557

ข้อเสนอแนะและมุมมองเชิงประสบการณ์

ปัจจุบันการปฏิรูปประเทศของสหภาพเมียนมาร์ที่มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องและบังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมนั้นได้ส่งผลให้นานาประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ แก่เมียนมาร์ มากขึ้นทำให้สถานการณ์การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของเมียนมาร์นั้นขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีมูลค่าการลงทุนโดยตรงสะสมมากที่สุดเป็นอันดับสองของเมียนมาร์ รองจากสาธารณรัฐประชาชนจีน สาขาลงทุนของไทยในเมียนมาร์ที่สำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่สาขาพลังงาน สาขาอุตสาหกรรมการผลิต สาขาโรงแรมและการท่องเที่ยว สาขาประมงและปศุสัตว์ และสาขาเหมืองแร่ ตามลำดับ
ข้อเสนอแนะที่ได้จากประสบการณ์ของผู้ลงทุนในเมียนมาร์และเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ที่นักลงทุนควรทราบก่อนตัดสินใจเข้าไปลงทุนในเมียนมาร์สรุป ได้ดังนี้
รูปแบบการลงทุนที่มีโอกาสประสบความสำเร็จ
ธุรกิจที่เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในสหภาพเมียนมาร์นั้นควรมุ่งเน้นไปยังธุรกิจที่สอดคล้องกับประเภทธุรกิจ/กิจการที่รัฐบาลเมียนมาร์ให้การส่งเสริมหรือมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศของเมียนมาร์เป็นสำคัญ ซึ่งจะทำให้ได้รับการอำนวยความสะดวก และสิทธิพิเศษในการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของเมียนมาร์มากกว่าประเภทธุรกิจ/กิจการทั่วๆ ไป นักลงทุนไทยที่สนใจจะเข้าไปลงทุนในเมียนมาร์ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะเข้าไปลงทุนในธุรกิจใด และจะลงทุนในรูปแบบใด เนื่องจากตามกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ของเมียนมาร์นั้นมีความยืดหยุ่นค่อนข้างมาก นักลงทุนจึงสามารถลงทุนได้ในหลายรูปแบบ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการลงทุนแต่ละรูปแบบจะมีปัจจัยเกี่ยวข้องที่ต้องคำนึงถึงแตกต่างกัน นักลงทุนจึงต้องมีการศึกษาข้อมูลการลงทุนในเมียนมาร์อย่างรอบด้านสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจในเมียนมาร์ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจนั้นเป็นไปอย่างราบรื่นนักลงทุนอาจหาพันธมิตรทางธุรกิจ/คู่ค้าชาวเมียนมาร์ที่ดีและเชื่อถือได้ในการร่วมลงทุน เพราะจะทำให้มีความสะดวกในการดำเนินธุรกิจและเรื่องการชำระเงินในระบบการเงินของเมียนมาร์มากขึ้น ทั้งยังจะช่วยลดต้นทุนทางธุรกิจได้อีกด้วย เนื่องจากอัตราค่าสาธารณูปโภคและภาษีสำหรับนักธุรกิจท้องถิ่นจะถูกกว่าของนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนั้น หากบริษัทที่จัดตั้งนั้นอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมก็จะได้รับสิทธิพิเศษและได้รับความสะดวกด้านต่างๆ จากภาครัฐเพิ่มขึ้นด้วย อาทิ การลดหย่อนภาษีการค้า การจ่ายค่าน้ำมันในราคาถูกกว่าปกติ และความพร้อมทางด้านไฟฟ้าและประปา เป็นต้น
กฎหมาย กฎและระเบียบ
ปัจจุบันกฎหมายการลงทุนต่างชาติฉบับใหม่ของสหภาพเมียนมาร์นั้นได้ผ่านการอนุมัติจากประธานาธิบดีเต็ง เส่ง แล้วเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2555 ขณะนี้เมียนมาร์กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนต่างๆ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบค่อนข้างบ่อย กฎระเบียบบางประการของรัฐบาลยังขาดความชัดเจนและมีปัญหาในทางปฏิบัติทั้งในระดับส่วนกลางและระดับท้องถิ่น นอกจากนั้น นักลงทุนยังไม่ได้รับทราบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับนโยบายและกฎระเบียบต่างๆ ของเมียนมาร์อย่างทั่วถึง และบางครั้งการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบบางประการอาจเป็นไปโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของนักลงทุนต่างชาติมากนัก นักลงทุนจำเป็นต้องศึกษาและคอยติดตามความเปลี่ยนแปลงของกฎหมายการลงทุนต่างชาติ รวมถึงกฎ ระเบียบต่างๆ อยู่เสมอ
วัฒนธรรม
แม้การศึกษากฎหมายการลงทุนต่างชาติ และการทำความเข้าใจกับกระบวนการลงทุนของสหภาพเมียนมาร์จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนมีความพร้อมสำหรับการเข้าไปลงทุนในเมียนมาร์ แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยสำคัญอีกหลายประการที่นักลงทุนจำเป็นต้องศึกษาและเรียนรู้โดยเฉพาะข้อมูลทางด้านสังคมและวัฒนธรรมของชาวเมียนมาร์ที่มีความแตกต่างกันไปในแต่ละเชื้อชาติ/พื้นที่ ที่มีส่วนสำคัญที่จะทำให้นักลงทุนสามารถดำเนินธุรกิจกับชาวเมียนมาร์ให้เป็นไปอย่างราบรื่น เนื่องจากแต่ละสังคมย่อมมีวัฒนธรรมและประเพณีที่แตกต่างกัน หากนักลงทุนรายใดมีความรู้เรื่องธรรมเนียมปฏิบัติในการติดต่อธุรกิจกับชาวเมียนมาร์ก็ย่อมมีความได้เปรียบในการทำธุรกิจมากกว่านักลงทุนที่ไม่รู้พื้นฐานทางสังคม วัฒนธรรมของชาวเมียนมาร์
ต้นทุนการดำเนินธุรกิจ
แม้อัตราค่าจ้างแรงงานในสหภาพเมียนมาร์จะมีราคาถูกเมื่อเทียบกับค่าจ้างแรงงานไทย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแรงงานเมียนมาร์นั้นขาดการพัฒนาทักษะในการทำงานอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน นักลงทุนต่างชาติจึงอาจต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการพัฒนาบุคลากรค่อนข้างสูงอีกทั้งค่าเช่าที่ดินในพื้นที่ธุรกิจสำคัญในเมียนมาร์นั้นมีราคาสูง ไม่มีราคากลาง และมีอยู่อย่างจำกัด ทำให้อาจเป็นอุปสรรคต่อการเข้าไปดำเนินธุรกิจในเมียนมาร์ได้ โดยเฉพาะการจัดตั้งธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก นักลงทุนจึงจำเป็นต้องศึกษาและพิจารณาเกี่ยวกับต้นทุนในการดำเนินธุรกิจต่างๆ เหล่านี้อย่างรอบคอบ และรวมถึงต้นทุนทางอ้อมในการดำเนินธุรกิจอื่นๆ ด้วย
ทั้งนี้ ต้นทุนทางอ้อมอื่นๆ ที่นักลงทุนควรศึกษาและพิจารณาก่อนการลงทุนอย่างถี่ถ้วนที่สำคัญ ได้แก่ ค่านายหน้าในการจ้างแรงงาน ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ภาษีท้องถิ่นอื่นๆ และโดยเฉพาะต้นทุนโลจิสติกส์ เนื่องจากเมียนมาร์นั้นขาดการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานมาเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้ระบบโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะระบบคมนาคมขนส่งมีปัญหาไม่สามารถรองรับทันกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปัจจุบันได้ ทั้งบางเมืองยังมีระบบผูกขาดผู้ให้บริการขนส่งอีกด้วย ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน และอาจส่งผลให้นักลงทุนต้องประสบปัญหาหรือขาดทุนในการดำเนินธุรกิจได้ เพราะไม่สามารถผลิตสินค้าได้ตามที่คาดการณ์ หรือต้องประสบกับปัญหาความล่าช้าในการส่งสินค้าได้ไม่ทันตามกำหนดเป็นต้น
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, 2557

อุตสาหกรรมและธุรกิจที่น่าสนใจลงทุน

ในช่วงเวลาประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศสหภาพเมียนมาร์เริ่มเปิดประเทศต้อนรับการลงทุนของต่างชาติมากขึ้นและด้วยการเป็นประเทศที่มีแหล่งทรัพยากรจำนวนมากมีประชากรมากกว่า 56 ล้านคนและเป็นประชากรที่อยู่ในกำลังแรงงานในระดับสูง ค่าจ้างแรงงานค่อนข้างต่ำ อีกทั้ง มีแรงงานจำนวนหนึ่งเคยเข้ามาทำงานในประเทศไทยจึงสามารถนำความรู้และประสบการณ์กลับไปประกอบกิจการและพัฒนาประเทศ มีเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญและพร้อมรองรับการขยายตัวของการลงทุน เช่น ย่างกุ้ง เมียวดี มะริด และทวายมีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติเป็นฐานการผลิตของภาคอุตสาหกรรมรวมทั้งเป็นประเทศที่มีความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์เพราะเป็นเสมือนประตูเชื่อมโยงไปสู่ทั้งกลุ่มประเทศในอาเซียนและเอเชียใต้สร้างความสะดวกในการติดต่อทางการค้าและการส่งสินค้าผ่านชายแดนไปยังประเทศต่างๆ
ประธานาธิบดี เต็ง เส่ง มีทิศทางการปฏิรูปเศรษฐกิจจากระบบรวมศูนย์อำนาจ (Central Planning) เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด (Market Economy) และมุ่งกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาค โดยให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจมหภาค การค้าการลงทุน และการเงินการธนาคาร นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม การดำเนินมาตรการส่งเสริมและดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ โดยการกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษและให้สิทธิประโยชน์ในพื้นที่ต่างๆ ทำให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้าไปลงทุนในเมียนมาร์มากขึ้น รวมถึงกำหนดแผนการพัฒนาอุตสาหกรรม 30 ปี มุ่งเน้นไปที่การเกษตร โดยเฉพาะเกษตรแปรรูป อุปกรณ์ทดแทน เครื่องจักรนำเข้า และชิ้นส่วนอะไหล่ต่างๆ
ขณะเดียวกัน รัฐบาลเมียนมาร์ก็ให้ความสำคัญกับเขตนิคมอุตสาหกรรมชายแดนไทย – เมียนมาร์ใน 3 เมืองใหญ่ ประกอบด้วย เมียวดีในรัฐกะเหรี่ยง อุตสาหกรรมเมืองพะอันและเมาะลำไยในรัฐมอญ โดยเฉพาะเมียวดี ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตากของไทย และมีนิคมอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว อันจะเป็นส่วนที่สอดรับกับเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดของฝั่งไทยที่ได้จัดตั้งไปแล้ว เพื่อเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจฝั่งตะวันออกและตะวันตก (East – West Economic Corridor) การเปิดประเทศและปฏิรูประบบเศรษฐกิจข้างต้นส่งผลให้มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) หลั่งไหลเข้าไปในเมียนมาร์สูงขึ้นเป็นลำดับ โดยในปี 2554 มีมูลค่าประมาณ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านพลังงานและเหมืองแร่ ภาคการผลิต และโรงแรมและการท่องเที่ยว ขณะที่พัฒนาการของประเทศที่มีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้นทำให้สหภาพยุโรปกำลังพิจารณาคืนสิทธิพิเศษทางการค้า และสหรัฐอเมริกาก็กำลังพิจารณายกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและให้สิทธิพิเศษทางภาษีตามมาด้วย
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมหลักที่น่าสนใจและมีศักยภาพสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเข้าไปลงทุนในเมียนมาร์ มีดังนี้
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
ในปัจจุบันมีโรงงานจำนวนมากที่ตั้งอยู่ใกล้กับย่างกุ้ง เนื่องจากมีสาธารณูปโภคและท่าเรือที่มีความพร้อมมากที่สุด และมีนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในบริเวณดังกล่าว เช่น ผะอัน พะโคและผะเต ส่วนใหญ่ดำเนินการผลิตแบบ Cutting Marking Packaging (CMP) ทำให้สามารถนำเข้าวัตถุดิบโดยปลอดภาษี อย่างไรก็ตาม กระแสและโอกาสแฟชั่นของสหภาพเมียนมาร์เริ่มจะมีมากขึ้น อันเป็นผลมาจากการที่ชาวเมียนมาร์เริ่มมีรายได้มากขึ้น จึงหันมานิยมใช้สินค้าแบรนด์มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่มีตราสินค้าของไทย ซึ่งชาวเมียนมาร์มีความคุ้นเคยเป็นอย่างดี ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณาถึงโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ โดยเฉพาะในรูปแบบของการร่วมหุ้นส่วนกับธุรกิจท้องถิ่นในเมียนมาร์ เพื่อลดต้นทุนด้านการขนส่งและขยายตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว
อุตสาหกรรมก่อสร้าง
สหภาพเมียนมาร์ยังคงต้องการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม ทั้งในด้านระบบไฟฟ้า น้ำประปา การขนส่งทางถนนสนามบิน รถไฟ และเทคโนโลยีสารสนเทศ (เช่น ระบบอินเตอร์เน็ต) ขณะที่กฎระเบียบและการบริการด้านการเงินยังคงเป็นอุปสรรคอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นรัฐบาลจึงมีดำริเชิงนโยบายที่จะเปิดโอกาสให้ทุนต่างชาติเข้าไปพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคในพื้นที่ต่างๆ เพื่อรองรับการเชื่อมโยงและพัฒนาเศรษฐกิจการค้าในระยะต่อไป โดยเฉพาะเมืองทวาย ซึ่งได้รับการส่งเสริมการพัฒนาเป็นท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และจะถูกสร้างขึ้นพร้อมกับระบบสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นการร่วมทุนจากนักลงทุนทั่วโลกและไม่ใช้งบประมาณจากรัฐบาล รวมทั้งยังสามารถเชื่อมโยงสินค้าจากตะวันออกกลางและอินเดีย ไปสู่ประเทศอื่นๆ ในแถบทะเลจีนใต้ จัดการความเสี่ยงต่างๆ จนเชื่อมั่นว่าจะเป็นการลงทุนที่เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, 2557

การประเมินโอกาสและอุปสรรคด้านการลงทุน

เมียนมาร์เป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวของประชากรน้อยที่สุดในอาเซียน แต่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ อาทิ ป่าไม้ น้ำมัน แก๊สธรรมชาติ อัญมณี และแร่ธาตุต่างๆ อีกทั้งยังมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเพาะปลูกในภาคเกษตรกรรม และมีแหล่งทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีความหลากหลาย นอกจากนี้เมียนมาร์ยังมีประชากรจำนวนประมาณ56 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงานทำให้มีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน ประกอบกับปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้มีการลงทุนจากต่างประเทศและเปิดเสรีด้านการลงทุนเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต จึงทำให้เมียนมาร์เป็นประเทศที่มีศักยภาพและได้รับความสนใจในการลงทุนจากต่างชาติเป็นจำนวนมาก
สำหรับธุรกิจของไทยที่เข้าไปลงทุนในเมียนมาร์ส่วนใหญ่ยังเป็นการลงทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ ธุรกิจพลังงาน โดยเฉพาะแก๊สธรรมชาติและเหมืองแร่ ขณะที่การลงทุนในสาขาอื่นยังมีสัดส่วนไม่มากนัก ซึ่งโอกาสการลงทุนในเมียนมาร์ยังมีได้อีกหลายสาขาอุตสาหกรรม เช่น การแปรรูปสินค้าเกษตรและประมง เฟอร์นิเจอร์ ก่อสร้างและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โลจิสติกส์ สิ่งทอและธุรกิจด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น
การวิเคราะห์สภาวะแวดล้อม (SWOT) ของสหภาพเมียนมาร์
จุดแข็ง (Strengths)
  • มีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากและมีคุณภาพ เช่น ป่าไม้ น้ำมันแก๊สธรรมชาติ อัญมณี และแร่ธาตุต่างๆ รวมถึงทรัพยากรทางทะเล อีกทั้งยังมีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร ทำให้เมียนมาร์มีความได้เปรียบด้านปัจจัยการผลิต
  • ที่ตั้งภูมิศาสตร์สามารถเชื่อมโยงการขนส่งกับต่างประเทศได้สะดวกมีเส้นทางคมนาคมทางบกเชื่อมต่อกับจีน อินเดีย ไทย และ สปป.ลาว ทำให้เมียนมาร์มีความได้เปรียบในการติดต่อการค้า และการขนส่งสินค้าผ่านแดนระหว่างประเทศข้างต้น ซึ่งไทยก็สามารถใช้จุดแข็งดังกล่าวของเมียนมาร์เป็นประตูสู่เอเซียใต้ได้เช่นกัน
  • เมียนมาร์มีแรงงานจำนวนมากและยังมีค่าจ้างแรงงานต่ำ จึงเหมาะสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานเข้มข้นหรือใช้เป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่นต่อไป
จุดอ่อน (Weaknesses)
  • เมียนมาร์ยังขาดความพร้อมด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน อาทิ ระบบไฟฟ้า โทรคมนาคม และการคมนาคมขนส่ง ซึ่งนอกจากจะมีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศและรองรับการเติบโตในอนาคตแล้ว ยังไม่ได้รับการพัฒนาให้มีมาตรฐานเพียงพออีกด้วย ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการขยายการลงทุน และส่งผลต่อต้นทุนประกอบการด้วย
  • แรงงานชาวเมียนมาร์ส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ ยังขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะฝีมือ รวมถึงผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการทำธุรกิจระหว่างประเทศ
  • เมียนมาร์อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบการเงินภายในประเทศซึ่งขณะนี้ยังคงต้องเผชิญปัญหาเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน อัตราเงินเฟ้อ และฟองสบู่ราคาสินทรัพย์
  • ชาวเมียนมาร์ส่วนใหญ่มีรายได้ไม่สูง ทำให้มีกำลังซื้อต่ำ การพิจารณาเลือกบริโภคสินค้าจะคำนึงถึงราคามากกว่าคุณภาพ
  • ปัญหาชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดน ซึ่งยังมีการสู้รบระหว่างรัฐบาลอยู่นั้น อาจส่งผลต่อความปลอดภัยตามแนวชายแดนได้
โอกาส (Opportunities)
  • รัฐบาลเมียนมาร์มีนโยบายเปิดประเทศ มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนและเปิดเสรีด้านการลงทุน ทำให้หลายประเทศสนใจเข้ามาทำการค้าและลงทุนเพิ่มมากขึ้น
  • จากความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลของไทยกับเมียนมาร์ รวมถึงกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของอาเซียน และการที่มีเขตชายแดนติดต่อกัน ส่งผลให้ไทยมีความได้เปรียบในโอกาสการลงทุนและการค้าชายแดนกับเมียนมาร์
  • เมียนมาร์มีประชากรจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสทางการตลาดสำหรับสินค้าอุปโภคและบริโภค อีกทั้งชาวเมียนมาร์ยังมีความเชื่อมั่นในสินค้าไทยทั้งด้านราคาและคุณภาพ
  • เมียนมาร์อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบกับเศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีความต้องการสำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้าง วัสดุอุปกรณ์ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอีกเป็นจำนวนมาก
  • ยังมีการแข่งขันสำหรับการลงทุนจากประเทศตะวันตกไม่มากนักจึงยังเป็นโอกาสของไทยในการเข้าลงทุนและครองตลาดภายในเมียนมาร์ อีกทั้งการขนส่งสินค้าจากไทยไปเมียนมาร์ยังมีต้นทุนต่ำกว่าประเทศคู่แข่งด้วย
  • เมียนมาร์มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายทั้งด้านความสวยงามของภูมิศาสตร์และความน่าสนใจของวัฒนธรรม จึงเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจการท่องเที่ยวและการบริการ
อุปสรรค (Threats)
  • ระบบราชการมีการทุจริตคอรัปชั่นสูงและยังมีความไม่แน่นอนทางการเมือง กฎระเบียบทางการค้ามีการเปลี่ยนแปลงบ่อย การปฏิบัติงานของหน่วยราชการมีความล่าช้า ขาดการประสานงานที่ดีระหว่างหน่วยงานราชการด้วยกันเอง
  • เมียนมาร์ยังขาดระบบการจัดเก็บข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพและความทันสมัยทำให้ขาดข้อมูลด้านการตลาดและการเงินซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการตัดสินใจ และอาจเกิดความผิดพลาดในการวางแผนลงทุนได้
  • มีการแข่งขันสูงสำหรับสินค้าจากจีนและอินเดียซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับเมียนมาร์
  • ยังคงมีมาตรการกีดกันทางการค้า เช่น การจำกัดปริมาณนำเข้าสินค้า เป็นต้น
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, 2557

รายชื่อหน่วยงานด้านการค้าและการลงทุน

หน่วยงานที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในประเทศเมียนมาร์
การจดทะเบียน
  • Directorate of Investment and Company Administration (DICA) : www.dica.gov.mm
  • The Ministry of National Planning and Economic Development : ww.mnped.gov.mm
การค้าและการลงทุน
  • The Export-Import Registration Office, The Ministry of Commerce :
    www.commerce.gov.mm
  • สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน :
    www.boi.go.th/aec
  • กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ :
    www.ditp.go.th/aec
การประกันภัย
  • Myanmar Insurance Corporation :
    www.mofr.gov.mm
สถาบันการเงิน
  • Central Bank of Myanmar :
    www.cbm.gov.mm
  • Myanmar Investment and Commercial Bank :
    www.mofr.gov.mm
หน่วยงานและสถานที่ติดต่อ
  • สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาร์ประจำประเทศไทย
    ที่อยู่: 132 ซอย 71 ถนนสาทรเหนือ กรุงเทพฯ 10500
    โทรศัพท์: 0 2233 0278, 0 2233 2237
    โทรสาร: 0 2236 6898
    อีเมล: myanmarembassybkk@gmail.com
    (หากเดินทางโดยรถไฟฟ้า-BTS ลงที่สถานีสุรศักด์)
    (เวลาทำการวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 9.00-15.00 น.)
  • สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง (Royal Thai Embassy)
    ที่อยู่:No. 94, Pyay Road, Dagon Township, Yangon, Republic of the Union of Myanmar
    โทรศัพท์: (951) 226 721, 226 728, 226 824
    โทรสาร: (951) 221 713
    อีเมล: thaiembassyygn@gmail.com
  • สำนักงานส่งเสริมการค้า ณ กรุงย่างกุ้ง (Office of Commercial Affairs)
    ที่อยู่: 86(A) Shin Saw Pu Road, San Chaung Township, Yangon, Republic of the Union of Myanmar
    โทรศัพท์/โทรสาร: 01 510 731
    E-mail: thaitrade.ygn@mptmail.net.mm,depthailand@gmail.com
  • สำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบก (Office of the Defence and Army Attache)
    ที่อยู่: 40 University Avenue, Bahan township, Yangon, Myanmar
    โทรศัพท์: (951) 514 474
    โทรสาร: (951) 514 474
    E-mail: p_chaiyakit@yahoo.com,da.rta_yangon@j2.mail.go.th
  • สำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือ (Office of the Naval Attache)
    ที่อยู่: No.11D U TUN MYAT Street, NATMAUK QUARTER, TAMWE TOWNSHIP,
    Yangon, Republic of the Union of Myanmar
    โทรศัพท์: (951) 430 271
    โทรสาร: (951) 430 271
    E-mail: toliengp@gmail.com
  • สำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอากาศ (Office of the Air Attache)
    ที่อยู่: E5 University Avenue Housing Compound, New University Avenue Rd.,
    Bahan township, Yangon, Republic of the Union of Myanmar
    โทรศัพท์: (951) 546 951
    โทรสาร: (951) 546 951
    E-mail: songpon1935@hotmail.com
  • The Union of Myanmar Foreign Investment Commission (UMFIC)
    Yangon Office
    Building No.1, ThitSar Road, Yankin Township, Yangon, Myanmar.
    Tel: (951) 658135, 657891
    Nay PyiDaw Office
    Building No (32), Nay Pyi Taw, Myanmar
    Tel: (95-67) 406166
  • Ministry of Commerce
    Yangon Office
    228-240, Strand Road, Yangon, Union of Myanmar.
    Tel: 01- 251197, 371023
    Fax: 01- 253028
    Email: moc@commerce.gov.mm
    Website: www.commerce.gov.mm
    Nay PyiDaw office
    Building 3, Nay Pyi Taw, Union of Myanmar.
    Tel: 067- 408002
    Fax: 067- 408004
    Email: moc@commerce.gov.mm
    Website: www.commerce.gov.mm
  • The Republic of the Union of Myanmar Federation of Chambers of Commerce and Industry (UMFCCI)
    No.29, Min Ye Kyawswa Road, Lanmadaw Township, Yangon, Myanmar.
    Tel: 95-1-214344, 214345, 214346, 214347, 214348, 214349
    Fax :95-1-214484
    Website: www.umfcci.com.mm , www.umfcci.net
    Email: umcci@mptmail.net.mm
  • Ministry of Industry
    Nay PyiDaw Office
    Office No (30), Zeya Htani Road, Nay Pyi Taw
    Tel: +95-67 – 405320,
    Fax: +95-67 – 405135

บรรณานุกรม

  • กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ. (2557). รอบรู้เรื่องการลงทุนในอาเซียน: สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์. (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ: กระทรวงพาณิชย์.
  • กรมส่งเสริมการส่งออก. (2555). คู่มือ การค้าและการลงทุน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์. (พิมพ์ครั้งที่ 1).กรุงเทพฯ: กระทรวงพาณิชย์.
  • กรมการค้าต่างประเทศ.(2554). สถิติการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนของประเทศไทย ปี 2554 – 2557 (มกราคม-พฤศจิกายน). กรุงเทพฯ: กระทรวงพาณิชย์.
  • กรุงเทพธุรกิจออนไลน์.(2556). นักวิชาการเตือน 3 ปีลงทุนพม่าที่ดินแพง-ค่าแรงพุ่ง. วันที่ค้นข้อมูล 22 กุมภาพันธ์ 2558, จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. เว็บไซต์: http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/504343
  • สำนักเลขาธิการฯ. (2557). สรุปรายงานทบทวนนโยบายการค้าของเมียนมาร์. (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ: คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก.
  • สำนักพัฒนาตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและเอเชีย. (2557). Factsheet – ประเทศพม่า. วันที่ค้นข้อมูล 10 มีนาคม 2558, จาก กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เว็บไซต์ http://aec.ditp.go.th/
  • หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์. (2558). ทุนไทยรองแชมป์ลงทุนพม่า 3 แสนล้าน. วันที่ค้นข้อมูล 17 กุมภาพันธ์ 2558, จาก หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์. เว็บไซต์: http://www.posttoday.com/